ภาษีสินสอด วางแผนแต่งงาน3

รู้ยัง สินสอดเกิน 10 ล้านต้องเสียภาษี


งานนี้มีหนาว! เพราะจากนี้ไป (25 กุมภาพันธ์ 2560) ไม่ว่าใครก็ตามที่จัดงานแต่งงานแล้วเรียกค่าสินสอดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องถูกจัดเก็บภาษีรายได้จากกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนดัง หรือคนเดินดิน โดนหมดถ้ามีจำนวนสินสอดที่เข้าข่าย

โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ความว่า

บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน (ทายาท) หรือคู่สมรส และบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส และ 10 ล้านบาท สำหรับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส

ภาษีสินสอด-วางแผนแต่งงาน24

สรุปความง่ายๆ คือ

บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน (ทายาท) หรือคู่สมรส หากกล่าวถึงเฉพาะประเด็นการแต่งงานหมายถึง คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายและประเพณี

บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส  หากกล่าวถึงเฉพาะประเด็นการแต่งงานหมายถึง คู่สมรสที่แต่งงานตามประเพณี แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ไม่ว่าคุณจะจดทะเบียนหรือไม่จด ต้องเสียภาษีสินสอดเหมือนกัน แต่เสียในเกณฑ์ที่ต่างกัน

  • หากมอบสินสอดให้ก่อนจดทะเบียนสมรส รวมทั้งกรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนด้วย ก็ต้องนำสินสอดในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ไปเสียภาษีในอัตรา 5%
  • แต่หากมอบให้ภายหลังจดทะเบียนสมรส รวมทั้งคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสแล้ว (อาจมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง) ก็จะคิด 5 % ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท

ภาษีสินสอด-วางแผนแต่งงาน59

สินสอดที่ต้องเสียภาษี เฉพาะแค่ส่วนของเงินอย่างเดียวหรือเปล่า

หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 แล้ว จะต้องคิดรวมทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สรุปคือ เวลาคำนวณภาษีสินสอดให้รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือบ้าน อย่างกรณีดีเจเพชรจ้ากับนิวเคลียร์ หรรษา ที่เผยมูลค่าสินสอดรวมแล้วประมาณ 100 ล้านบาท เพชรจ้าจะต้องเสียภาษีเบื้องต้นในอัตรา 5% ของ 100 ล้านเท่ากับ 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)

เคสนี้พี่หยวนๆ ให้

แน่นอนว่าภาษีทุกประเภทย่อมมีข้อยกเว้น ภาษีสินสอดเองก็เช่นกัน ซึ่งกรณีที่สินสอดเป็นสังหาริมทรัพย์ จะมีข้อยกเว้นตามที่พระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ได้กำหนดไว้ดังนี้

  • เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น
  • เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงิน ได้ในส่วนที่ ไม่เกิน 10 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น
  • เงินได้ที่ได้รับซึ่งผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา หรือการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดดังนี้

  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปีภาษี

ภาษีสินสอด-วางแผนแต่งงาน37

สินสอดอยู่ที่ใคร คนนั้นต้องเสียภาษี

ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงคืนสินสอดให้แก่คู่สมรสหลังเสร็จพิธีแต่งงาน คู่สมรสต้องเป็นผู้เสียภาษี ถ้าไม่มีการมอบคืนสินสอด หน้าที่เสียภาษีก็จะตกอยู่ที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงทันที แต่ถ้าเป็นกรณีแบ่งสินสอด แนะนำให้ปรึกษากับกรมสรรพากรครับ

ภาษีสินสอด-วางแผนแต่งงาน29

แบบนี้ก็โดนด้วยเหรอ แค่ยืมเขามาเองนะ

ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรเผยว่า การจัดเก็บสินสอดทำได้ยาก เพราะไม่มีหลักฐานการทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินจริง ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก บางรายอ้างว่าแค่ยืมมาเพื่อใช้เฉพาะในงานเท่านั้น เช่น แหวนเพชร รถยนต์ อย่างกรณีของเชน ธนา ที่เปิดเผยว่า ความจริงสินสอด 168 ล้านบาทเป็นเงินที่เขาและแฟนสาวเจมส์ กณิการ์ ร่วมกันหาและมอบให้แม่เจ้าสาว เพื่อให้ถูกต้องตามประเพณี แล้วหลังเสร็จพิธีมงคลสมรส แม่เจ้าสาวก็มอบสินสอดคืนให้เชนกับเจมส์นำไปสร้างฐานะใหม่ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่า ทางกรมสรรพากรจะว่าอย่างไรกับประเด็นนี้

ถ้าวันหนึ่งคู่สมรสเลิกกัน รัฐต้องคืนภาษีสินสอดหรือเปล่า

เป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามมาก แต่เนื่องจากภาษีสินสอดเพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน จึงยังไม่มีข้อกฎหมายรองรับกรณีดังกล่าว ซึ่งต้องรอฟังข่าวจากกรมสรรพากรต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร