พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 15

พิธีแต่งงานแบบล้านนา : รวมทุกรายละเอียดที่ว่าที่คู่บ่าวสาวชาวเหนือต้องรู้


พิธีแต่งงานแบบล้านนาในปัจจุบันมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยไปมาก และมีการผสมผสานกับพิธีแต่งงานแบบภาคกลางด้วย ตามธรรมเนียมพิธีแต่งงานแบบล้านนาจะนิยมจัดที่บ้านฝ่ายหญิง เพราะผู้ชายจะต้องไปอยู่กับผู้หญิงที่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเลือกสถานที่จัดงานแต่งงานที่สะดวกต่อทั้งสองฝ่าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องจัดที่บ้านก็ได้

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะให้ผู้ใหญ่มา จาเทิง (จ๋าเติง) หมายถึง มาสู่ขอและหมั้นหมายกัน ต่อด้วยการหาฤกษ์แต่งงาน และเตรียมตัวแต่งงานตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้ครับ

ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมห้องหอ ที่นอน หมอน มุ้ง ซึ่งสมัยก่อนฝ่ายหญิงจะต้องทอผ้าเพื่อทำเป็น สะลี (ฟูกรองนอน) และทอผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน เตรียมไว้  และเมื่อใกล้จะถึงวันจัดงานแต่งงาน ฝ่ายหญิงก็จะต้องตกแต่งบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ประดับด้วยต้นไม้และดอกไม้ต่าง ๆ

ฝ่ายชายจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ฝ่ายชายจะต้องเตรียมขบวนแห่ขันหมาก และเครื่องประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งประกอบด้วย

  • หีบผ้าใหม่
  • ดาบ
  • ถุงย่าม (ถุงขนัน) 
  • ขันหมาก
  • ขันไหว้
  • ต้นกล้วย
  • ต้นอ้อย

อย่างละ ๑ คู่ นอกจากนี้ ยังมีขันสินสอดและขันหมั้น สำหรับกรณีที่หมั้นพร้อมแต่ง รวมทั้งสะลี หมอน มุ้ง ผ้าห่ม (ถ้ามี) โดยทางฝ่ายชายจะต้องเตรียมของเหล่านี้มาในวันจัดพิธีแต่งงาน โดยฝ่ายชายจะจัดขบวนแห่ขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว

Cover FB

ก่อนถึงวันงานประมาณ ๑ – ๒ สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเริ่มทยอยบอกกล่าวเชิญชวนญาติผู้ใหญ่ เพื่อน และคนรู้จักที่ใกล้ชิดสนิทกันให้มาร่วมงาน ส่วนเรื่องอาหารจัดเลี้ยงก็จะได้บรรดาคนบ้านใกล้เรือนเคียงนี่แหละมาช่วยกัน

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 18
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Pruek Photography 16

ในเช้าวันแต่งงานจะต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ (จตุโลกบาล) ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของชาวล้านนาในการคุ้มครองบ้านเรือน โดยปู่อาจารย์ซึ่งอาจเป็นผู้อาวุโสที่คนในหมู่บ้านเคารพเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนเครื่องพลีกรรมในพิธี ปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้จัดเตรียม แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันทำครับ

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 21

ขอเจ้าบ่าว (ขอเขย)

ในเช้าวันแต่งงาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ฝ่ายเจ้าสาวจะนำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าบ่าว เรียกว่า ไปขอเขย ซึ่งการขอเจ้าบ่าวจะต้องมีพานดอกไม้ธูปเทียน ไปพูดเชิญพ่อแม่เจ้าบ่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล เพื่อเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวให้ทันตามฤกษ์ที่กำหนด โดยกล่าวคำมงคลว่า

มาวันนี้ก็เพื่อมาขอเอาแก้วงามแสงดี มาไว้เป็นมงคลบ้านโน้น (บ้านเจ้าสาว)

ทางพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว มีขันข้าวตอกดอกไม้และขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับและกล่าวฝากตัวลูกชายไปเป็นลูกเขยว่า

ลูกชายข้าก็รักดั่งแก้วดั่งแสง จะร้ายดีอย่างใด ก็ขอได้ช่วยสั่งช่วยสอนเขาเทอะ  

พิธีขอเจ้าบ่าวนี้ ถ้าเจ้าบ่าวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับเจ้าสาว จะใช้วิธีเดินเท้าไปเป็นขบวน แต่ถ้าอยู่คนละหมู่บ้านอาจจะโดยรถยนต์ หรือนำคณะไปพักอยู่บ้านญาติผู้ใหญ่หรือที่พักที่ใกล้เคียงกันหมู่บ้านของเจ้าสาว

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 8

แห่ขบวนขันหมาก

เมื่อถึงวันเข้าพิธีแต่งงาน ทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนแห่ขันหมาก โดยมีเครื่องประกอบขบวน นำหน้าโดยขันดอกไม้ ตามด้วยบายศรี ซึ่งอาจทำมาจากบ้านเจ้าบ่าว หรือถ้าทางบ้านเจ้าสาวทำบายศรีไว้แล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวอาจจะไม่จำเป็นต้องนำมาแห่ในขบวนก็ได้ครับ

ส่วนตัวเจ้าบ่าวจะต้องสะพายดาบ อันเป็นเครื่องหมายแห่งชายชาตรี และตามมาด้วยขันหมั้น ขันหมาก หีบผ้า หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น (ซึ่งทางฝ่ายเจ้าบ่าวอาจปรับเปลี่ยนการจัดลำดับขบวนขันหมากได้ตามความเหมาะสม)

ส่วนวงดนตรีในขบวนจะประกอบด้วย

  • กลองซิ้งม้อง (รูปทรงคล้ายกลองยาวแต่สั้นกว่า)
  • ปี่แน

แขกที่มาร่วมงานจะเดินในขบวนแห่ขันหมาก เพื่อไปหาเจ้าสาวยังบริเวณพิธี เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้ว ทางฝ่ายเจ้าสาวจะส่งตัวแทนไปเชิญขบวนแห่ฝ่ายเจ้าบ่าวเข้าบ้าน

เมื่อขบวนขันหมากแห่มาถึงพิธี เจ้าสาวจะออกมารอรับเจ้าบ่าว แต่ถ้าจะให้พบกันง่าย ๆ ก็อาจดูน่าเบื่อไปหน่อย ดังนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจึงต้องเจรจาขอผ่านประตูที่ใช้เข็มขัดกั้นประตูแรกก่อน เรียกว่า ประตูเงิน ซึ่งเจ้าบ่าวต้องตอบคำถามหรือเล่นเกมส์ พร้อมให้ซองแก่ผู้กั้นประตู (ส่วนมากจะนิยมใช้เพื่อนเจ้าสาว) จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะได้พบกับด่านถัดไปที่ประตูอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า ประตูทอง ซึ่งเจ้าบ่าวจะต้องฝ่าด่านนี้ด้วยการตอบคำถามหรือเล่นเกมส์พร้อมให้ซอง จะยากง่ายแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนคิดคำถามหรือเกมส์แล้วล่ะ ถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวผ่านด่านทั้งสองได้ ก็จะได้ขึ้นไปพบกับเจ้าสาวครับ

เชิญชมภาพบรรยากาศแห่ขบวนขันหมากกันค่ะ

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Pruek Photography 10
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 17
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 9
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 14

คำถามยอดฮิต ที่เจ้าบ่าวได้เจอแน่ ๆ

ผู้แทนฝ่ายเจ้าสาว : ปากั๋นมาหยะหยัง ปะล้ำปะเหลือจะอี้นี่ (มาทำอะไรกัน ถึงเอิกเกริกกันขนาดนี้)

ผู้แทนฝ่ายเจ้าบ่าว : หมู่เฮาเอาแก้วแสงดีมาหื้อมาปั๋นปี่น้องบ้านนี้ (พวกเราเอาแก้วแสงดีมาให้มาแบ่งพี่น้องบ้านนี้)

ผู้แทนฝ่ายเจ้าสาว : บ้านข้าเจ้านี้มีประตูเงิน ประตูคำ จะเข้าไปง่าย ๆ บ่ได้ก้า จะต้องซื้อเข้าก่อนเน้อ (บ้านฉันมีประตูเงินประตูทองกั้นอยู่ จะเข้าไปง่าย ๆ ไม่ได้ ต้องให้ค่าผ่านด่านก่อนนะ) 

ผู้แทนฝ่ายเจ้าบ่าว : บ่เป็นหยัง จะเอาเท่าใดเล่า (ไม่เป็นไร จะเอาเท่าไหร่ละ)

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 2

เรียกขวัญ ผูกข้อมือคู่บ่าวสาว

การเรียกขวัญแต่งงาน เป็นการสร้างกำลังใจและเตือนสติให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญด้วยว่า ในวาระนั้น ๆ ผู้ได้รับการเรียกขวัญกำลังจะย่างเข้าสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งคือ ทั้งคู่กำลังจะเป็นพ่อเรือนแม่เรือน จะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับชีวิต

ชาวล้านนามีความเชื่อว่า คนเรามีขวัญอยู่ ๓๒ ขวัญ อยู่ประจำอวัยวะต่าง ๆ ประจำตัว เพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีความสุข ไม่เจ็บป่วย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกาย จะมีผลทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วย มีความทุกข์หรือเกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้ขวัญอยู่ที่เดิม จึงจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญหรือผูกข้อไม้ข้อมือกันนั่นเอง

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 7
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 1
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 13

เมื่อเจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในพิธีแล้ว ลำดับต่อไป  เจ้าบ่าวเจ้าสาวไหว้พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย  พ่อแม่พาเจ้าบ่าวเจ้าสาวพาไปส่งบริเวณทำพิธี โดยให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา แขกผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่แต่ละฝ่าย หรือปู่อาจารย์ เป็นผู้สวมฝ้ายมงคล ที่ศรีษะของทั้งสองคนโยงคู่กัน

ปู่อาจารย์หรือผู้ประกอบพิธี เป็นผู้เรียกขวัญคู่บ่าวสาวให้รักกันยืนนานชั่วชีวิต  เป็นภาษาล้านนาที่มีทำนองไพเราะอ่อนหวาน

จากนั้น ปู่อาจารย์จะทำพิธีปัดเคราะห์  เพื่อให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้มัดมือและอวยพรคู่บ่าวสาวก่อน ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ต่อจากนั้น เป็นญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย

การผูกข้อมือจะใช้ฝ้ายดิบ ภาษาล้านนาเรียกว่า ฝ้ายไหมมือ ในสมัยโบราณจะทำโดย ฝ้ายต่อง คือด้ายที่ปั่นไว้และนำไปขึงกับ เปี๋ย มิให้ม้วนพันกัน จากนั้นนำด้ายมา ล้วง ทำเป็นฝ้ายมัดมือ การผูกข้อมือคู่บ่าวสาว จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว เช่น หื้อฮักกั๋น แพงกัน หื้อเจริญก้าวหน้า ริมาค้าขึ้น พลันมีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง

จากนั้นแขกผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะใส่ซองเงินลงในขันสลุงให้แก่คู่บ่าวสาว ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวก็จะมอบของไหว้ให้แก่แขกผู้ใหญ่เป็นการตอบแทน ของรับไหว้ที่คู่บ่าวสาวนิยมมอบให้ เช่น ขันเงินขนาดเล็ก ของชำร่วย หลังจากมอบของไหว้และของรับไหว้เรียบร้อยแล้ว ปู่อาจารย์จะถอดฝ้ายมงคลออก ก็เป็นอันเสร็จพิธีเรียกขวัญ ผูกข้อมือแล้วครับ

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Pruek Photography 12
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 19

เครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญ

ชาวล้านนานิยมเรียกบายศรีว่า ใบสี  เนื่องจากใช้ใบตองมาเย็บรวมกันทำเป็นบายศรี บ้างก็เรียก ขันบายศรี  บางแห่งเรียกว่า ขันปอกมือ  หรือ ขันผูกมือ เนื่องจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ ขันบายศรีอาจใช้ขันเงิน หรือพานเงิน พานทองเหลือง ขันซี่ (พานที่กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง ทารักทาชาด) ใช้ใบตองมาพับปลายเรียวแหลมหลาย ๆ อัน แล้วนำมาซ้อนทับกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จะกี่ชั้นก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเป็นจำนวนคู่

บายศรีที่นิยมทำกันทั่วไปจะมีนมแมว ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น แถบนมแมวทั้งหมดทำเป็น ๔ มุม เรียกว่า สี่แจ่งนมแมว บางแห่ง ๖ มุม หรือ ๘ มุมบ้าง นำมาวางเรียงซ้อนกันบนพานและมีขันสลุงรองรับอยู่บนพาน ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ อย่างงดงาม ส่วนปลายหรือยอดของบายศรีจะใช้ด้ายดิบผูกโยงต่อเนื่องกันในแต่ละยอด และเหลือไว้ช่องหนึ่ง เพื่อเป็นทางให้ขวัญเข้ามากินอาหารในขันบายศรี

ส่วนอาหารสำหรับขวัญที่ต้องใส่ในขันบายศรี ได้แก่

  • ข้าวเหนียวสุก
  • ไข่ต้ม
  • ชิ้นปิ้ง
  • ปลาปิ้ง
  • ข้าวแตน
  • กล้วยน้ำว้าสุก
  • หมากพลู
  • เหมี้ยง

จำนวนอย่างละ ๑ คู่ บายศรีแต่งงานนิยมทำบายศรีนมแมวชั้นเดียว และอาจทำซ้อนชั้นด้วยพานรองรับขนาดต่าง ๆ แต่ไม่เกิน ๓ ชั้น

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ บ้านสิงห์คำ 22

ขันตั้งบายศรี

เป็นเครื่องบูชาครู ทางล้านนาเรียกว่าขันตั้ง คือของใช้สำหรับบูชาครูหรือยกครู ในเวลาจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับขันตั้งเรียกขวัญ มีของใช้สำหรับบูชาครู ประกอบด้วย

  • ข้าวเปลือก ข้าวสาร อย่างละ ๑ กระทง
  • ผ้าขาว ผ้าแดง อย่างละ ๑ ผืน (ประมาณ ๑ วา)
  • สวยหมากสวยพลู ๘ สวย
  • สวยดอกไม้ ธูปเทียน อย่างละ ๘ สวย
  • หมากแห้ง ๑ หัว
  • เงินบูชาครู ๕๖ บาท
  • น้ำขมิ้นส้มป่อย ๑ ขันเล็ก

ของทั้งหมดนี้ใส่รวมกันลงในพานหรือถาด ก่อนจะทำพิธีเรียกขวัญ ปู่อาจารย์จะเริ่มต้นโดยการขึ้นขันตั้งก่อน จึงจะทำพิธีเรียกขวัญ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก ส่วนใหญ่หลังจากปู่อาจารย์ทำพิธีเรียกขวัญเสร็จแล้ว ก็จะมอบปัจจัยบูชาครูตามสมควร

ส่งตัวเข้าหอ

ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ จะต้องมีการมัดมือคู่เจ้าบ่าวสาวให้ติดกันก่อน โดยมีพ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ บุคคลที่มีชื่อเป็นมงคลเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องถือบายศรีนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่แขกผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนผูกข้อมือคู่บ่าวสาว การจูงเข้าห้องโดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมือเจ้าบ่าว ซึ่งบนเตียงนอนมีกลีบดอกไม้โปรยไว้

พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวจะนอนให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนด้วยกันเป็นพิธี และมีการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เช่น ให้ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง บ่ดีหื้อเป็นผัวเผต เมียยักษ์ หื้อมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หื้อฮักกั๋นแพงกั๋นอยู่ตราบเสี้ยงชีวิต ถ้าผัวเป็นไฟ หื้อเมียเป็นน้ำ หื้อพ่อชายเป็นหิง แม่ญิงเป็นข้อง (สรุปสั้น ๆ คือ ขอให้ผู้ชายเป็นคนหาเงินทอง ส่วนผู้หญิงเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ)

เท่านี้ก็เป็นอันจบพิธีแต่งงานแบบล้านนาอย่างสมบูรณ์แล้วครับ

พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 6
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 3
พิธีแต่งงานแบบล้านนา เชียงใหม่ ช่างภาพแต่งงาน Yai Wedding Studio 4