10 face up 1200x500

ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐


สวัสดีค่ะชาว Weddinglist ทุกคน อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังจะมีพิธีสำคัญเกิดขึ้น นั่นก็คือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่๑๐” ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ ๔ – ๖ เดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้ันเราในฐานะประชาชนคนไทยจึงควรจะรู้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นี้มีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไรบ้าง Weddinglist จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพระราชพิธีที่สำคัญนี้กันค่ะ

Capturez

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เป็นโบราณราชประเพณีที่มีขึ้นเพื่อการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์หลังจากขึ้นทรงราชย์ เป็นพิธีที่ได้รับรับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย เราจึงเห็นได้ว่าพระราชพิธีจะมีลัทธิพราหมณ์และลัทธิทางพุทธศาสนา (หินยาน) ผสมกันอยู่ในพระราชพิธีค่ะ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) และยังคงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การพระราชพิธีบรมราชภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้ยึดแบบอย่างการพระราชพิธีตามสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญคือ “น้ำอภิเษก” ซึ่งน้ำอภิเษกที่ทรงรับนั้น เป็นน้ำที่ได้พลีกรรม ตักมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในประเทศไทย  มีความหมายว่าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ปกป้อง คุ้มครองประชาชนในทั้ง ๘ ทิศ (ทิศตะวันออก,ทิศตะวันออกเฉียงใต้,ทิศใต้,ทิศตะวันเฉียงใต้,ทิศตะวันตก,ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ,ทิศเหนือ,ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)

ตามตำราพราหมณ์น้ำอภิเษกใช้น้ำจากแม่น้ำ ๕ สาย ในชมพูทวีปหรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดีและแม่น้ำสรภู ทั้งหมดเรียกว่า “ปัญจมหานที” ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำทั้ง ๕ สายนั้นไหลมาจากเขาไกรลาศ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น
จากหลักฐานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีการนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ แต่ปรากฏหลักฐานว่าน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้น่้ำจาก สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา ครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑  รัชกาลที่๒ รัชกาลที่๓ และรัชกาลที่๔  นอกจากใช้น้ำจากสระ ๔ สระดังกล่าวแล้ว ยังใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศไทยเพิ่มเติมอีก ๕ สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี เรียกว่า เบญจสุทธคงคา โดยอนุโลมตามเบญจมหานทีในชมพูทวีป

สำหรับน้ำอภิเษกที่ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่๑๐ เป็นน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ ๔ สระ และน้ำอภิเษกเป็นน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ใน ๗๖ จังหวัดซึ่งบางจังหวัดมีมากกว่า ๑ แห่ง และจากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง รวม ๑๐๘ แห่ง

ลำดับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ถูกแบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

การเตรียมพระราชพิธี
มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพและแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

Capture

ในส่วนของ กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่๑๐ พุทธศักราช ๒๕๖๒ มีการเริ่มพิธีมาก่อนหน้านี้แล้วค่ะ
เป็นการเตรียมริ้วขบวน การทำพิธีเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก หลังจากนั้นช่วงวันที่ ๒๒ – ๒๓ เมษายนที่ผ่านมาจึงเป็นพิธีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นจึงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเสด็จพระราชดำเนินถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากนั้นในเวลา 10.00 น. เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกร ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นในช่วงเย็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นมัสการพระรัตนตรัย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ และจุดเทียนชัย หลังจากนั้นพระสงฆ์ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์

๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ และเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
• 10.09 – 12.00 น. สรงมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ
• 14.00 น. เสด็จออกมหาสมาคมรับกาถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย
• 16.00 น. เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดร และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
• 18.00 น. เจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภช ณ หมู่พระมหามณเฑียร
(เวลา 13.19 – 20.30 น. เฉลิมพระราชมณเฑียร เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน)

๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค
• 9.00 น. พระราชพิธี เฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ เลี้ยงพระ เทศน์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย
• 16.30 น. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยเริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)  ตามลำดับ

๖ พฤษภาคม พ.ศ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล โดยมีกำหนดการดังนี้
• 16.30 น. เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
• 17.30 น. เสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

หลังจากนั้นจะเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ซึ่งจะเป็นการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยจะมีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562 เวลา 16.00 น.

Information and Photo From phralan.in.th