cv wr

หลักเกณฑ์การขอสมรสพระราชทาน รู้ไว้…ทำอย่างไรให้ถูกต้อง


สมรสพระราชทานถือเป็นมงคลและเกียรติยศแก่ชีวิตคู่บ่าวสาวหลายท่าน ไม่ว่าใครก็ปรารถนาที่จะได้รับความสิริมงคลมาเป็นมิ่งขวัญ สำหรับขั้นตอนการขอพระราชทานก็เป็นหนึ่งในคำถามที่มีเข้ามามากมาย เพราะเรามักติดภาพของดารา คนดังในวงสังคมต่างๆ สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ นั้นสามารถทำได้หรือไม่…ที่นี่มีคำตอบค่ะ

 การขอพระราชทานน้ำสังข์

จากหนังสือ “รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชสำนัก” กล่าวถึงการขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรสอย่างที่เราเรียกกันว่า “การขอพระราชทานน้ำสังข์” 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. แบบเป็นทางการ
  2. แบบส่วนพระองค์ หรือเรียกอีกอย่างว่า “น้ำสังข์ข้างที่”

ใครบ้างมีสิทธิขอสมรสพระราชทาน

  1. พระราชทานให้แก่ผู้ที่รู้จักและคุ้นเคย
  2. ทรงรู้จักบิดาหรือมารดาของผู้ขอ
  3. สำหรับตำรวจ ทหาร หรือพลเรือน โดยผู้บังคับบัญชาขอให้หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ (1) หรือ (2)
  4. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้ขอต้องทำหนังสือต่อสำนักราชเลขาธิการ พร้อมแนบวัน/เดือน/ปีเกิดของคู่สมรสและสถานที่ติดต่อ

ขั้นตอนการซักซ้อม

หลังจากที่ยื่นหนังสือไปแล้ว ส่วนมากใช้เวลาในการรอประมาณ 1 เดือนค่ะ  ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณช่วงก่อนการแต่งงานของเราโดยเราสามารถระบุในหนังสือตั้งแต่ทีแรกได้นะคะ หรือถ้าใครรู้จักทางเจ้าหน้าที่หรือท่านผู้หญิงที่ดำเนินงานในเรื่องนี้โดยตรงก็อาจได้ไวขึ้นเป็นพิเศษเพราะตามได้ตรงจุดนั่นเองค่ะ หลังจากทางกองงานฯ แจ้งกำหนดวันเข้ารับมาแล้ว คู่บ่าวสาวก็ต้องทำการแจ้งรายละเอียดผู้ติดตามของทั้ง 2 ฝ่ายๆ ละ 4 คน ดังนี้

  • บิดามารดาของคู่บ่าวสาว (พ่อแม่ฝ่ายชาย 2 + พ่อแม่ฝ่ายหญิง 2)
  • พยาน (พยานฝั่งชาย 2 + พยานฝั่งหญิง 2)
  • เจ้าบ่าว และ เจ้าสาว

หากนับคู่บ่าวสาวด้วยก็รวมทั้งสิ้น 10 คนด้วยกันค่ะ วันซ้อมแบ่งออกเป็นสองรอบนะคะ คือวันก่อนเข้าเฝ้าฯ และวันจริงที่ต้องไปก่อนฤกษ์ 3 ชั่วโมง แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นตอนมากจนเกินไปนะคะ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยบอกกำกับค่ะ

 สิ่งที่ต้องเตรียม

ดอกไม้ ธูปเทียน ต้องมีพานรองจำนวน 1 พานค่ะ  ในส่วนนี้ถ้าไม่มั่นใจสามารถแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ให้จัดเตรียมให้ได้ค่ะ จากนั้นชำระเงินไว้ สำหรับการถ่ายภาพที่ระลึกทางสำนักพระราชวังก็จะมีช่างภาพเตรียมไว้ให้ ไม่อนุญาตนำอุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพได้ทุกชนิดเข้าไปโดยเด็ดขาดนะคะ หากคู่บ่าวสาวต้องการจดทะเบียนสมรสในวันจริงด้วย ให้เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสไปให้ครบค่ะ (ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ทำสำเนามาด้วยพร้อมค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรส)

 การแต่งกาย

ผู้ชาย

  • ข้าราชการพลเรือน – แต่งกายชุดปกติขาว
  • ข้าราชการทหารหรือตำรวจ – แต่งกายชุดเครื่องแบบปกติขาว (นำกระบี่, ถุงมือและสามชายหรือสายคาดกระบี่ไปด้วย)
  • พลเรือนทั่วไป – ชุดเครื่องแบบปกติขาวขอเฝ้าฯ (ราชปะแตนขาวติดเครื่องหมายขอเฝ้าฯ)

ผู้หญิง

  • ชุดไทยบรมพิมาน (ไม่กำหนดสีและชนิดของผ้า ไม่ผ่าหลังหรือหน้า มีความเหมาะสมเมื่อต้องหมอบกราบ)
  • รองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น ห้ามสายคาดหรือรัดข้อเท้า
  • เครื่องประดับน้อยชิ้นพอประมาณ (ไม่ควรสวมใส่แบบระย้าเพราะต้องหมอบกราบ)

หมายเหตุ – สำหรับผู้ติดตามที่เข้ามาเป็นพยานก็ใช้หลักเกณฑ์ในการแต่งกายคล้ายกันค่ะ ในส่วนของผู้หญิงให้ใช้ชุดไทยจิตรลดาหรือชุดไทยบรมพิมานก็ได้ สามารถเปลี่ยนสีหรือชนิดผ้าได้ ในส่วนของผู้ชายยึดตามเครื่องแบบของตนเองค่ะ

 วันจริงต้องทำอะไรบ้าง

หลังจากซ้อมครั้งสุดท้ายแล้วก็รอถึงเวลาตามกำหนดการค่ะ จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนที่ซ้อมไว้ได้เลย อันดับแรกเปิดกรวยพานธูปและเทียนก่อนจากนั้นจึงค่อยคลานเข่าเข้าไปใกล้พระองค์ท่านเพื่อถวาย แล้วจึงเป็นลำดับของการรับพระราชทานน้ำสังข์ พระองค์จะทรงทัดใบมะตูมที่หูให้แก่คู่บ่าวสาวและทรงเจิมแป้งให้ที่หน้าผาก จากนั้นจะทรงอวยพรพร้อมถ่ายรูปที่ระลึก หลังจากที่จบพิธีในส่วนของคู่เราแล้วสามารถกลับได้เลยโดยไม่ต้องรอให้จบครบทุกคู่ค่ะ (ในวันนั้นทางสำนักพระราชวังจะทำการนัดหมายคู่สมรสเข้ามาประมาณ 6-8 คู่เพื่อรับน้ำสังข์พระราชทาน)

อย่าลืมว่าหลังจากรับน้ำสังข์พระราชทานแล้วจะต้องไม่มีการรดน้ำสังข์ในวันแต่งงานอีก และหากมีการจัดเลี้ยงแต่งงานต้องใช้คำว่า “งานจัดเลี้ยงฉลองสมรสพระราชทาน” ด้วยค่ะ โดยประธานในพิธีจะไม่กล่าวอวยพรแก่คู่บ่าวสาวแต่จะเชื้อเชิญแขกผู้มีเกียรติในงานร่วมดื่มเพื่อถวายพระพรแทน หวังว่าข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่คู่บ่าวสาวกันนะคะ เท่านี้ก็สามารถทำได้ถูกต้องตามขั้นตอน เสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิตคู่ได้แล้วค่ะ

Credit : newbrandnew_nj