พิธีแต่งงาน จีน

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน พิธียกน้ำชา อัปเดตล่าสุด 2024


สำหรับคู่ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวชาวไทยเชื้อสายจีน การแต่งงานตามประเพณีจีนให้ถูกต้องตามบรรพบุรุษที่ได้สืบทอดกันมาช้านานนั้นจะลำดับขั้นพิธีแต่งงานแบบจีนไว้ เริ่มตั้งแต่ฤกษ์สู่ขอ ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์ปูนอน การดูสมพงษ์ การดูดวงชงระหว่างพ่อแม่เจ้าบ่าวและว่าที่สะใภ้ แต่ปัจจุบันนี้การจัดงานแต่งงานพิธีจีนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หากว่าคู่บ่าวสาวเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็สามารถจัดงานแต่งงานผสมผสานกันระหว่างพิธีไทยจีน (อัปเดตล่าสุด 2024)

ก่อนวันแต่งงานแบบจีน คู่บ่าวสาวต้องทำอะไรบ้าง 

เริ่มต้นด้วยทางฝ่ายบ้านเจ้าบ่าว นำดวงของเจ้าสาวไปให้ซินแสผูกดวงสมพงษ์และหาฤกษ์แต่งงาน หรือเรียกว่า “ชึ้งเมี้ย” เพื่อหาวันแต่งงานที่ดีที่สุด รวมถึงฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์หมั้น ฤกษ์ยกน้ำชา ฤกษ์ปูเตียง ฤกษ์แห่ขันหมาก ฤกษ์เข้าบ้านฝ่ายชาย ฤกษ์เจ้าสาวกลับบ้าน เมื่อได้วันและเวลาแล้วก็จะเข้าสู่ในเรื่องของการจัดเตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ต่อไป

พานข้าวตอกดอกไม้ ในงานแต่งงานแบบจีน

สิ่งที่ทางฝั่งบ้านเจ้าสาวต้องจัดเตรียม 

  • เอี๊ยมแต่งงานแบบจีน ซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดง ตรงอกเสื้อเอื้อมมีช่องกระเป๋าปักตัวอักษร “แป๊ะนี้ไห่เล่า” แปลว่า อยู่กินกันจนแก่เฒ่า ในกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด มีความหมายว่าเจริญงอกงาม
  • ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น และปิ่นทองที่ทำเป็นตัวลายภาษาจีนว่า “ยู่อี่” แปลว่า สมปรารถนา
  • เชือกแดง สำหรับผูกเอี๊ยมมีตัวหนังสือ “ซังฮี้” มีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร
  • กะละมังสีแดง 2 ใบ
  • ถังน้ำสีแดง 2 ใบ
  • กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ
  • กระโถน 1 ใบ พร้อมกระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ถาดสีแดง

นอกจากนี้ สิ่งของที่จัดเตรียมนั้น จะต้องเป็นจำนวนคู่อย่างตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว อีกทั้งยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด ซึ่งจะมี 4 ใบ หรือ 5 ใบก็ได้ ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ ซึ่งหมอนใบยาวนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้าเจ้าสาวฐานะดีพ่อแม่อาจจะจัดเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้ด้วย แล้วสุดท้ายยังมีหวีอีก 4 เล่ม ที่เป็นเคล็ดมงคลตามภาษาจีนเขียนว่า “ซี้ซี้อู่หอซิว” หมายถึงทุก ๆ เวลาจะได้มีทรัพย์

กล้วยเลขคู่ในพิธีแต่งงานจีน

รวมถึงทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมกล้วย โดยต้องยกมาทั้งเครือเขียว ๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ก็ถือว่ายิ่งดี และถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็ถือว่าดีมาก เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ให้เอากระดาษสีแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ ซังฮี่ บนเครือกล้วย โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เอากลับเมื่อทำพิธีสู่ขอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมส้มเช้ง จำนวนคู่ ติดซังฮี่ด้วยเช่นกัน และต้องคืนขนมแต่งที่ฝ่ายชายให้มาซึ่งจะคืนให้ไปครึ่งหนึ่ง

และในคืนก่อนวันงาน ก็จะมีการอาบน้ำใบทับทิม เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าชำระสิ่งชั่วร้ายไปให้หมด จากนั้นจะสวมชุดใหม่และนั่งลงให้หญิงที่มีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์พูนสุข หวีผมให้พร้อมกับกล่าวคำอวยพร

สิ่งที่ทางฝั่งบ้านเจ้าบ่าวต้องจัดเตรียม 

เครื่องขันหมากของเจ้าบ่าวจะประกอบไปด้วย

1. สินสอดทองหมั้น (เพ้งกิม)
เพ้ง คือ เงินสินสอด แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง แต่ถ้าเจ้าสาวยังมีอากง อาม่าหรือปู่ย่าอยู่ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั้งเปาอีกก้อนหนึ่งให้เป็นพิเศษด้วยพร้อมชุดหมู 1 ชุดอีกต่างหาก โดยพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้รับขึ้นมา ส่วนกิม คือ ทอง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะพิถีพิถันก็อาจขอเป็น “สี่เอี่ยกิม” แปลว่าทอง 4 อย่าง เพราะเลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน ทอง 4 อย่าง เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง

สินสอดทองหมั้น พิธีแต่งงานจีน

2. กล้วย 

ต้องยกมาทั้งเครือเขียว ๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ “ซังฮี่” บนเครือกล้วยอันเป็นคำมงคล โดยที่ ซัง แปลว่า คู่ ฮี่ แปลว่า ยินดี ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง และต้องทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ แล้วให้ฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับเมื่อพิธีสู่ขอเสร็จ ยิ่งจำนวนผลกล้วยมีมากมาย ยิ่งเป็นการอวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมาก ๆ นั่นเอง

3. อ้อย
อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น แต่บางบ้านเลือกที่จะไม่ใช้ เพราะเป็นความหวานที่กินยากต้องทั้งปอกทั้งแทะ

4. ส้ม
ผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียว ติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวน เป็นเลขคู่แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนด

ผลไม้ที่ใช้ในการแต่งงานแบบจีน

5. ขนมหมั้น หรือ ขนมแต่งงาน
ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน การกำหนดชนิดคือ จะให้เป็นขนม 4 สี เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือขนม 5 สี เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน

นอกจากนี้บางบ้านอาจขอให้มีน้ำตาลทราย ซาลาเปาไส้หวาน และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนมแต่งงานและคุกกี้กระป๋อง ฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า “สั่งเปี้ย” ซึ่งคำว่า สั่ง หรือ ซั้ง แปลว่า ให้ ส่วนคำว่า เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงาน

ขนมหวานพิธีแต่งงานจีน

6. ชุดหมู
โดยส่วนใหญ่จะมีประมาณ 3 ถาด

  • ถาดที่ 1 : เป็นชุดหัวหมูพร้อม 4 เท้าและหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่
  • ถาดที่ 2 : เป็นถาดขาหมูสดติดตัวซังฮี่เช่นเดียวกัน
  • ถาดที่ 3 : เป็น “โต้วเตี้ยบะ” เท่านั้น คือเป็นเนื้อหมู ตรงส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาว

ได้เป็นแม่คน แม่ที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชายและมีธรรมเนียมว่าทางฝ่ายหญิง ก็ต้องให้ชุดหมูสดตอบแทนแก่ฝ่ายชาย แต่ชุดหมูของฝ่ายหญิงจะเป็นชุดหัวใจหมูที่ต้องสั่งพ่อค้าเป็นพิเศษว่าเป็นชุดหัวใจทั้งยวงที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกัน

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชุดหัวใจนี้อาจทำได้เป็น 2 แบบ

  • แบบ 1 : ฝ่ายหญิงแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายไปครึ่งหนึ่ง
  • แบบ 2 : เอาชุดหัวใจนี้ไปประกอบอาหารให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับประทานร่วมกัน เพื่อเป็นเคล็ดอวยพรให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกัน

เครื่องขันหมากมีหลายอย่างที่นิยมแบ่งกันคนละครึ่ง เช่น ขาหมู 2 ขา ก็คนละ 1 ขา อ้อย ขนมขันหมาก ชุดลำไยแห้ง ต้นชุงเฉ้า ส่วนของที่ฝ่ายชายต้องเอากลับไปทั้งหมด ก็คือ กล้วยเขียวเครือใหญ่, เอี๊ยมแต่งงาน, ชุดหัวใจหมู, ถาดไข่, และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง

สินสิดทองหมั้นแต่งงานแบบจีน

เมื่อถึงวันหมั้นแบบจีน คู่บ่าวสาวต้องทำอะไรบ้าง 

เครื่องขันหมากของเจ้าบ่าวจะยกมายังบ้านเจ้าสาว พร้อมกับนำสินสอดทองหมั้น ซึ่งเครื่องขันหมากที่เจ้าบ่าวจัดเตรียมมาให้นั้น ทางบ้านเจ้าสาวต้องเก็บไว้ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งต้องคืนให้กับบ้านเจ้าบ่าวไป พร้อมกับส้มเช้งติดตัวซังฮี่ ที่จัดเป็นคู่กันกับเอี๊ยมแดงเสียบปิ่นทอง

และเช้าในวันส่งตัวฝ่ายเจ้าบ่าวจะมีการคืนปิ่นทองให้เจ้าสาวเสียบผมต่อออกจากบ้าน นอกจากส้มเช้งแล้วยังมีกล้วยที่ฝ่ายเจ้าสาวให้ฝ่ายเจ้าบ่าวกลับไปเป็นนัยวั่า จะได้มีลูกหลานสืบสกุล

เมื่อเสร็จจากพิธีขันหมากแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะรอฤกษ์ในสวมแหวนหมั้นต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ จากนั้นญาติผู้ใหญ่ก็จำทำการให้พร เชิญแขกกินเลี้ยง เป็นเสร็จสิ้นพิธีหมั้นแบบจีน

สินสอดงานแต่งแบบจีน

และแล้ววันแต่งงานแบบจีนก็มาถึง คู่บ่าวสาวต้องทำอะไรบ้าง

ภารกิจของเจ้าสาวก่อนเริ่มพิธีแต่งงานแบบจีน 

ก่อนถึงฤกษ์ส่งตัว เจ้าสาวจะแต่งหน้าหน้าทำผมสวยที่สุดในชีวิต แม่เจ้าสาวจะประดับปิ่นเงินปิ่นทอง และใบทับทิมที่ผม เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วก็จพาไปไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ ก่อนจะไปรับประทานอาหารกับครอบครัว ซึ่งมื้อนี้คุณแม่จะคีบอาหารป้อนลูกสาว พร้อมทั้งกล่วงคำมงคลของอาหารแต่ละชนิด ซึ่งอาหารมงคลในพิธีแต่งงานแบบจีน

  •  ปลา ภาษาจีนเรียกว่า “ฮื้อ” หรือ “ชุ้ง” แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า เหลือ สื่อถึงคำมมงคลว่า อู่ฮู้-อู่ชุ้ง คือ มีเหลือกินเหลือใช้
  •  ผักกู้ช่าย หรือ ผักกุ่ยช่าย สื่อความหมายว่าจะได้อยู่กันไปนาน ๆ เพราะ “กู้” แปลว่า นาน
  •  ผักเกาฮะไฉ่ คำว่า “เกาฮะ” สื่อหมายถึง เซียนฮั่วฮะ ซึ่งเป็นเซียนคู่ที่รักกันมาก กินผักเกาฮะไฉ่ สื่อความหมายว่าจะได้รักกันเหมือนเซียนคู่นั้น
  •  ตับหมู ไส้หมู กระเพาะหมู ภาษาจีน เรียกว่า “กัว” “ตึ้ง” “โต้ว” และเมื่อเรียกรวมกันจะเป็นภาษามงคล คือ “อั่วตึ๊งอั่วตั๊ว” หมายความว่า เปลี่ยนให้ดียิ่งขึ้น
  •  หมู เป็ด ไก่ เป็นของไหว้เจ้าถือว่าเป็นของมงคลอยู่แล้ว
ขนมพิธีแต่งงานจีน

เริ่มพิธีแต่งงานแบบจีน 

เมื่อได้ฤกษ์แล้วทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปรับตัวเจ้าสาวที่บ้าน โดยมีญาติ ๆ คอยต้อนรับด้วยน้ำชาและขนมอี๊ (ขนมสาคูเม็ดใหญ่สีชมพู) พอถึงขั้นตอนนี้เจ้าสาวยังไม่ต้องทำอะไรนอกจากนักถือพัดสีแดงนั่งรอเจ้าบ่าวอยู่ในห้อง และรอจนกว่าเจ้าบ่าวและเถ้าแก่จะเจรจาผ่านประตูเงินประตูทองไม่ให้คนที่เกิดปีชงกับเจ้าสาวอยู่ในงานด้วย โดยต้องให้รอจนกว่าจะถึงพิธีงานเลี้ยงเย็น

หลังจากเข้ามาในบ้าน ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ หรือเรียกว่า “จูเอี๊ย” ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ ที่อยู่ในครัว และทำการไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว หรือถ้าหากปู่ย่าตายายของเจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องไหว้กับท่าน เพื่อบอกกล่าวให้ท่านทราบว่า บัดนี้เจ้าสาวกำลังไปจากครอบครัวเพื่อสร้างครอบครัวใหม่แล้ว

ของหมั้น

เมื่อถึงช่วงเวลาเจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาว ทั้งคู่ก็จะนั่งกินขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน เมื่อทานขนมเสร็จจึงกราบลาพ่อแม่ เพื่อไปขึ้นรถแต่งงานในขบวนรถแต่งงาน โดยทางบ้านเจ้าสาวก็จะเตรียมข้าวของเครื่องใช้ เช่น สบู่ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้าใหม่และที่สำคัญต้องมีญาติหนุ่ม เป็นพี่ชายน้องชาย หรือหลานชายก็ได้ ให้ถือตะเกียงจุดสว่างนำทางเพื่อเป็นเคล็ดว่า ให้คู่สามีภรรยามีลูกชายสืบสกุล ซึ่งอาจจะนั่งรถคนเดียวกับเจ้าสาวก็ได้ แต่ในการนี้พ่อเจ้าสาวต้องเป็นคนจูงเจ้าสาวขึ้นรถพร้อมกับกล่าวคำอวยพร และพรมน้ำใบทับทิมไปด้วยว่า “ขอให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เปลี่ยนคุณหนูให้เป็นคุณหญิง” และก่อนที่จะนำเจ้าสาวเข้าบ้าน หากว่าเจ้าสาวมีประจำเดือนก็ต้องก้าวข้ามกระถางที่จุดไฟไว้ จึงจะเข้าบ้านได้ แต่ถ้าหากเจ้าสาวไม่มีประจำเดือนก็ไม่เป็นไร

เมื่อเดินทางมาถึงบ้านเจ้าบ่าว ญาติผู้ชายของฝ่ายเจ้าสาวก็จะนำตะเกียงไปวางไว้ในห้องนอนพร้อมทั้งจุดทิ้งไว้ ตลอดคืน ถ้าจะให้ดีนั้นควรจุดทิ้งไว้ 3 คืน แต่ถ้าเกรงเรื่องความปลอดภัยอาจจะมีการใช้ตะเกียงไฟฟ้าหรือตะเกียงแบบใส่ถ่านก็ได้เช่นกัน เมื่อหมดขั้นตอนนี้ทางญาติเจ้าบ่าวก็จะมีการให้อั่งเปาแก่ญาติผู้ชายของฝ่ายเจ้าสาว ในทันทีเมื่อเข้ามาถึงในบ้าน เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะทำพิธีไหว้ฟ้าดินเช่นเดียวกับที่ไหว้ที่บ้านเจ้าสาว เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้ว

ไม้มงคล

ฤกษ์ปูเตียง 

ควรเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่กินด้วยกันมานาน และมีการแต่งงานที่ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณี มีศีลธรรมและมีลุกหลานดีมีความเจริญมั่งคง ให้มาปูเตียงให้ เมื่อปูเตียงเสร็จแล้วจะมีการนำส้มวางมุมเตียง (วางบนที่นอน) อย่างละ 1 ผล และ 4 ผลวางไว้ในจานหรือในตระกร้า ที่มีตัว “ซังฮี่” แปะอยู่ โดยนำไปวางไว้บนกลางเตียงพร้อมกับใบทับทิมยอดอ่อนสีแดงวางเอาไว้จนถึงวันแต่งงาน

พิธียกน้ำชาคารวะในงานแต่งแบบจีน 

เมื่อถึงเวลารุ่งเช้าแขกเหรื่อเริ่มทยอยมาที่บ้านจนพร้อมหน้า คู่สามีภรรยาใหม่จะต้องทำการ “ชั่งเต๊” หรือยกนำชาให้พ่อแม่สามี และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว โดยทั้งสองจะต้องคุกเข้าลงพร้อมกับรินชาใส่ถ้วยวางบนถาดส่งให้

เมื่อผู้ใหญ่ดื่มชาแล้วก็จะอวยพรและให้เงินทองให้เป็นทุนตั้งตัว ในขั้นตอนนี้บ่าวสาวจะมอบสิ่งของตอบแทน ซึ่งอาจจะเป็นผ้าขนหนูหรือเครื่องเบญจรงค์ก็ได้ เรียกว่า “ของรับไหว้” เมื่อเสร็จพิธียกน้ำชาคู่บ่าวสาวจึงกินขนมอี๊อีกครั้ง

  • การตั้งโต๊ะกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ต้องหันหน้าตามทิศมงคลของเจ้าบ่าว เจ้าสาว และต้องดูตามวันเดือนปีเกิดด้วย
  • ยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าบ่าว โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาว ต้องยกพร้อมกัน จับถาด 2 มือ แล้วก็เรียก อากงอาม่า กินน้ำชา หรือ ชั่งเต้ เสร็จแล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวให้พรและให้ของรับไหว้ ส่วนคู่บ่าวสาวให้ของตอบแทน
  • ในกรณีที่ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวที่แต่งงานแล้ว ควรให้ยกน้ำชาทีเดียวเลยพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีการยกน้ำชาให้น้องเจ้าบ่าวด้วย 2 ถ้วย เพราะถือเป็นเคล็ดว่าจะมีคู่และถือเป็นการรับตัวเจ้าสาวเข้าบ้าน

หลังจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะรับประทานขนมบัวลอยร่วมกัน เพื่อที่ทั้งคู่จะได้รักใคร่ปรองดอง หวานชื่นเหมือนกับรสชาดและสีของขนม แล้วพอรุ่งเช้าหลังจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ลูกสะใภ้ด้วยการยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่สามี บางครอบครัวอาจจะให้มีธรรมเนียมนี้ 3 วันหรือบางครอบครัวครัวอาจจะเป็น 12 วัน แล้วซึ่งแล้วแต่ละครอบครัวจะเลือกกัน

คู่รักใหม่กลับไปเยียมบ้าน 

หลังแต่งงาน 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน ซึ่งจะแล้วแต่ฤกษ์ที่ได้มาก็ถึงเวลาที่ ญาติผู้ชายของเจ้าสาว จะมารับตัวเจ้าสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือเรียกว่า “ตึ่งฉู่” เจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผล ใส่ถาดติดไม้ติดมือกลับบ้าน โดยมีน้องชายของเจ้าสาวมารับและเตรียมส้ม 12 ผลใส่ถาดไปด้วย เมื่อถึงที่บ้านของฝ่ายหญิง คู่แต่งงานจะต้องทำพิธี “ชั่งเต๊” หรือยกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง เมื่อยกน้ำชาแล้ว ท่านก็จะให้พรและของขวัญ ส่วนมากจะนิยมเป็นทรัพย์สิน เพื่อให้คู่แต่งงานได้นำเงินไปตั้งตัว

จากนั้นก็จะมีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขย แล้วนำส้มในตะกร้านี้กลับไปวางไว้บนหัวนอน เป็นอันเสร็จพิธีในการกลับบ้าน สำหรับส้มที่ได้จากการกลับบ้านเจ้าสาวนี้ให้ทานเฉพาะเจ้าบ่าวเจ้าสาวเท่านั้นเพราะถือเป็นเคล็ดว่าจำให้มีลูกหลานเยอะ ๆ

สิ่งสุดท้าย ก็คือ คู่บ่าวสาวต้องตอบแทนแม่สื่อตามธรรมเนียม (บ่วยนั้ง) โดยฝ่ายชายต้องทำหน้าที่ตอบแทนแม่สื่อด้วยขาหมู และให้เงินเป็นมูลค่า 5 เปอร์เซนต์ของสินสอดที่ให้ฝ่ายหญิง


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก: Bird Eye View – Wedding Studio
ขอขอบคุณอุปกรณ์พิธีจีนจาก: ร้าน ตั้ง จิ้น ย้ง (Tang Chin Yong Wedding)

สิ่งของเสริมมงคลในพิธีงานแต่งแบบจีนมีอะไรบ้าง

  • มังกรเคียงหงส์ กอดลูกโลก : สัตว์มงคลที่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสมรสเมื่อมีไว้ในบ้านของคู่สมรสจะส่งเสริมความ เจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ และยังมีเคล็ดที่เชื่อว่ามีแล้วจะทำให้มีลูกชายหลายคนด้วย
  • กระดาษฉลุลวดลายมงคล : กระดาษตกแต่งที่คนจีนมักนิยมใช้ในพิธีแต่งงานและในห้องหอของคู่บ่าวสาว เพราะมีความหมายและสัญลักษณ์อันเป็นมงคล ประกอบด้วยอักษรคู่ มังกรและหงส์ เป็ดแมนดารินคู่ เงื่อนมงคล ดอกโบตั๋น และลูกท้อ
  • เทียนคู่มังกรและหงส์ : เทียนที่มาเป็นคู่กัน เล่มหนึ่งเป็นลายมังกรและอีกเล่มเป็นลายหงส์สีแดงสวยงาม เป็นของใช้ในพิธีแต่งงานแบบจีนโดยเฉพาะ เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ในคืนวันที่เข้าห้องหอ

เจ้าสาวจะกลับไปเยี่ยมบ้านได้ตอนไหน

เจ้าสาวจะกลับมาเยี่ยมบ้านได้หลัง 3 วัน 7 วัน หรือ 12 วัน โดยส่งน้องชายหรือพี่ชายมารับ โดยมีเบบี้ออยล์มาด้วย เป็นเคล็ดที่เชื่อว่าช่วยให้การเดินทางราบรื่น ถึงแล้วเจ้าบ่าวต้องเลี้ยงต้อนรับ แล้วทั้งคู่รวมน้องหรือพี่ชาย กลับไปพร้อมกัน ก่อนกลับ เจ้าบ่าวต้องเตรียม ขนม 2 ห่อ และตะกร้าเปล่า (เป็นตะกร้าใส่ชุดกรรไกรที่นำของทั้งหมดออกแล้ว)

เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว ทางครอบครัวเจ้าสาวต้องเลี้ยงต้อนรับทั้งคู่ นำขนมมาไหว้เจ้าที่ 1 ห่อ คืนเจ้าบ่าว 1 ห่อ ทางฝั่งแม่ต้องเตรียมส้ม 12 ลูก ปักก้านทับทิม 1 ก้าน โดยเมื่อเสร็จ พิธี ขนมที่คืนให้ จะต้องนำไปไหว้เจ้าที่บ้านเจ้าบ่าว ก้านทับทิมให้ปักไว้ที่กระถางธูป ส่วนส้มที่ได้ก็นำไปแบ่งกันรับประทานได้เลย