โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภัยร้ายของชีวิตคู่


หากจะกล่าวถึงชีวิตคู่ ทุกคนย่อมนึกถึงความรักที่สวยงามของหนุ่มสาวที่เมื่อถึงเวลาเหมาะสมและเป็นคนที่ใช่ของกันและกัน แล้วนำไปสู่การแต่งงานและมีครอบครัวใช่ไหมคะ แต่ก่อนที่จะถึงวันแต่งงานสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มต้นชีวิตคู่ ก็คือ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานค่ะ เพื่อจะได้หาวิธีรักษาหรือแก้ปัญหาก่อนที่จะส่งผลในอนาคตค่ะ วันนี้ weddinglist ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมาฝากทุกคนอีกเช่นเคย โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่คู่รักจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตคู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค มีผลกระทบต่อลูกอีกด้วยค่ะ จะมีโรคอะไรบ้างนั้น ติดตามชมกันได้เลยค่ะ

1.ซิฟิลิส

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากติดเชื้อ Spirochete ชื่อ T.pallidum โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อครั้งแรกจะมีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศเช่นกัน แต่แผลจะต่างกับแผลริมอ่อน โดยแผลซิฟิลิสจะอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้นานหลายปี โดยโรคนี้มีระยะการฟักตัว 10 – 90 วัน (เฉลี่ย 21 วัน) และอาจกำเริบระยะหลังเป็นซิฟิลิสขึ้นสมองได้ ดังนั้น หากพบควรรักษาให้ถูกต้องด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันโรคกำเริบในภายหลังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidumได้ค่ะ

  • อาการ

ระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศ เป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ ถ้าไม่ได้รักษา แผลจะสามารถหายได้เอง แต่โรคจะดำเนินต่อไป มีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก ผมร่วง ปวดข้อ ถ้ายังไม่ได้รักษาอีกโรคจะเข้าสู่ระยะสงบ ไม่มีอาการ ทราบได้จากการตรวจเงือกเท่านั้น หลังจากนั้น อีกหลายปีจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค มีผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตในที่สุดค่ะ

2.โรคหนองในแท้
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae โดยมีระยะฟักตัว 2 – 7 วัน ผู้ป่วยชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาว ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ท่ออสุจิตีบตัน ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นหมัน ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ ปวดตามข้อ โดยเชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก mucous membrance เช่น

  • เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ, ช่องคลอด, ปากมดลูก และเยื่อบุมดลูก
  • ท่อรังไข่
  • ทวารหนัก
  • เยื่อบุตา
  • ปาก และคอ

3.โรคหนองในเทียม (Chlamydia)
เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดเชื้อโรคซึ่งไม่ใช่หนองในแท้ (Gonococcal Urethritis) สำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมที่พบบ่อยที่สุดคือ Chlamydia trachomatis คนไทยจะรู้จักกันในชื่อ “ฝีมะม่วง” ซึ่งหมายถึงต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอักเสบจากการติดเชื้อ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มาด้วยก้อนที่ขาหนีบและปวดหรือที่ชาวบ้านเรียก “ไข่ดันบวม” ก็เกิดจากเชื้อ Chlamydia trachomatis นี่เองค่ะ โรคนี้จะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 7 วัน

  • อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองใสไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ บางรายอาจไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้ค่ะ

4.แผลริมอ่อน

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Haemophilus Ducreyi โรคนี้ติดต่อได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาด โรคนี้จะทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต บางครั้งมีหนองไหลออกมาที่เรียกว่าฝีมะม่วง หากไม่รักษาจะเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อ HIV ได้ง่ายค่ะ

  • อาการ

1.ผู้ที่รับเชื้อนี้จะมีอาการหลังจากรับเชื้อแล้ว 3-10 วัน

2.อาการเริ่มต้นจะเป็นตุ่มนูนและมีอาการเจ็บมักจะเป็นบริเวณเส้นสองสลึง หลังจากนั้จะมีแผลเล็กๆ ก้นแผลมีหนอง ขอบแผลนูนไม่เรียบ มีอาการเจ็บมาก แผลเล็กๆจะรวมกันเป็นแผลใหญ่

3.แผลจะนุ่มไม่แข็ง(โรคซิฟิลิสจะมีขอบแผลแข็ง)

4.จะมีอาการเจ็บแผลมากในผู้ชาย แต่ผู้หญิงอาจจะไม่มีอาการเจ็บทำให้เกิดการติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่าย

5.ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะโต กดเจ็บ บางคนแตกเป็นหนองที่เรียกว่าฝีมะม่วง

5.เริม

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มาจากเชื้อ herpes simplex virus type 1 (HSV-1) หรือ type 2 (HSV-2) ส่วนมากมักจะเป็นชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่ผิวหนัง ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และอาจลามไปที่ส่วนอื่นของร่างกายและทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

  • อาการ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อจะแบ่งตัว ทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ หลังจากนั้นเชื้อจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปมประสาท ganglia เป็นเวลานานโดยที่ไม่มีการแบ่งตัว แต่หากปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมเชื้อก็อาจเกิดการแบ่งตัวได้ และทำให้เกิดอาการเป็นซ้ำ ผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดซ้ำประมาณร้อยละ 20-40 สำหรับเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดซ้ำประมาณร้อยละ 80 ปัจจัยที่กระตุ้นยังไม่แน่ชัด เชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับแสงแดด ไข้ การมีประจำเดือน ความเครียด การเป็นซ้ำจะมีอาการน้อยกว่า และหายเร็วกว่าการเป็นครั้งแรกค่ะ

6.โรคหงอนไก่ (Human papilloma virus / HPV)

HPV เป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อย คนส่วนใหญ่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ โดยเฉลี่ยไวรัสนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ และมากกว่า 30 สายพันธุ์เกิดบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. ความเสี่ยงต่ำ: อาจทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ที่เรียกว่า condyolma หูดหงอนไก่
  2. ความเสี่ยงสูง: อีกประมาณ 13 ประเภท ที่เป็นชนิดความเสี่ยงสูง สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและทวารหนัก

บางคนที่ติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการแสดงออกของโรคและหายไปเอง แสดงว่าเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก โดยทั่วไป HPV จะติดต่อกันโดยการสัมผัสผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ บริเวณหูด หรือส่วนที่ติดเชื้อไวรัส เป็นส่วนน้อยที่ติดต่อกันจากการร่วมเพศทางปาก ซึ่งยังไม่มีผลยืนยันว่าการสัมผัสของนิ้วมือหรือวัตถุที่ติดเชื้อไวรัสจะสามารถส่งต่อเชื้อได้ ส่วนยารักษาในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัส HPV ได้ แต่ยาสามารถรักษาอาการของหูดได้

  • อาการ

ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหลังติดเชื้อ จะแสดงอาการหลังติดเชื้อได้ 2 ลักษณะ คือ อาการหูดหงอนไก่ มีลักษณะเป็นหรือติ่งหน้า ผิวขรุขระ และไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และอาการของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก

7.โรคเอดส์และเอชไอวี

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า HIV กับ AIDS มีความแตกต่างกันนะคะ โดยโรคเอดส์ เป็นการติดเชื้อ HIV ในระยะสุดท้าย โดยระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนไม่สามารถต้านนทานโรคต่างๆได้แล้ว ในขณะที่เชื้อ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้เป็นโรคเอดส์ได้ค่ะ ดังนั้น เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) จึงเป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้กำจัดการติดเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย จึงเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาเอดส์ให้หายขาด มีเพียงแต่ยาที่ช่วยชะลอการพัฒนาโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวและได้รับการรักษาแต่แรกเริ่ม ก็อาจช่วยไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามไปสู่ระยะที่เป็นเอดส์ได้นั่นเองค่ะ

จะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?
เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วยค่ะ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และให้ความสำคัญกับการพาคู่นอนมารับการตรวจรักษา ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต
วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง ?
  1. การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  2. การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  3. การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี