sitphotographer001

เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเป็นสิริมงคล จัดพิธีแต่งงานแบบเรียบง่ายในวัด


ศาสนาพุทธ ความเชื่อ พิธีกรรม อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานแล้วนะคะ โดยเฉพาะเรื่องของพิธีงานแต่งงานตามประเพณีไทยนั้น จะมีขั้นตอนทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเลี้ยงพระ การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ การทำบุญตักบาตร ชาวพุทธเรามีความเชื่อว่าการ ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ทำให้ชาตินี้เราได้เกิดมาครองคู่กันและกันนั่นเองค่ะ

ความสำคัญของพิธีสงฆ์นั้นยังหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเป็นสิริมงคล และนอกจากนี้ยังเป็นการเริ่มต้นการครองเรือนด้วยโอวาทจากพระสงฆ์และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มาอวยพรให้คู่บ่าวสาวได้ใช้ชีวิตคู่ให้ถูกต้องตามครรลอง ครองธรรม ตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าด้วย

ฆราวาสธรรม 4

1. สัจจะ (ความซื่อสัตย์)
2. ทมะ (การฝึกตน)
3. ขันติ (การอดทน)
4. จาคะ (การบริจาค/การเสียสละ)

sitphotographer011

สำหรับคู่บ่าวสาวท่านใดที่อยากเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเป็นสิริมงคล โดยจัดงานแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีแล้วก็ยังช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา ก็สามารถเลือกจัดงานแต่งงานในวัดได้นะคะ ซึ่งข้อดีคือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในพิธีการอื่นๆในงานแต่งงาน สำหรับวัดหรือสถานที่ ที่สามารถจัดงานแต่งงานเฉพาะพิธีสงฆ์เฉพาะในกรุงเทพได้มีดังนี้  หรือหากอยู่ต่างจังหวัดก็สามารถสอบถามวัดใกล้บ้านได้นะคะ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
ติดต่อสอบถามได้ที่ พระครูศิริวีราภรณ์ โทร. 086-608-0556

วัดชลประทานรังสฤษดิ์
ติดต่อสอบถามได้ที่ พระมหาวัชรินทร์ โทร. 091-016-2913 หรือสอบถามที่เบอร์ 02-583-8847

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ติดต่อสอบถามได้ที่  พระมหาสมศักดิ์ โทร. 087-404-0521

วัดอรุณราชวราราม
ติดต่อสอบถามได้ที่  พระมหาบุญรุ่ง โทร. 081-250-6538

โรงพยาบาลสงฆ์
ติดต่อสอบถามได้ที่  02-6409537 ต่อ 3501 ,3502

ปล.ทุกที่ห้ามมีการยกขบวนขันหมากหรือแห่ขันหมากแบบเอิกเกริกเสียงดังนะคะ

sitphotographer006
sitphotographer012
sitphotographer013

ขั้นตอนการประกอบพิธีสงฆ์

1. นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป  ในอดีตนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ คือ 6 รูป 8 รูป หรือ 10 รูป เป็นต้น  แต่ปัจจุบันพิธีทำบุญงานมงคลทุกประเภทมักนิยมนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมงคลจำนวน 9 รูป เนื่องจากถือกันว่าเลข 9 นั้น การออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ก้าว” คือก้าวหน้า หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง

2. บ่าวสาวจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และรับศีล 5 โดยลักษณะการนั่งจะจัดให้เจ้าบ่าวนั่งทางซ้ายมือของพระพุทธรูป ส่วนเจ้าสาวนั่งทางขวา

3. อาราธนาศีล รับศีล และอาราธนาพระปริตร ในส่วนนี้เป็นการกล่าวอาราธนาโดยมีผู้นำสวดโดยมากจะเป็นผู้ชำนาญที่มาพร้อมกับพระสงฆ์อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นผู้กล่าวอาราธนาศีล รับศีล และอาราธนาพระปริตรให้กับบ่าวสาวและแขกที่มาร่วมงาน เมื่อรับศีลแล้ว จะเป็นการอาราธนาพระปริตร หมายถึงการขอให้พระสงฆ์เจริญสูตรที่มงคล เพื่อกำจัดทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บ

4. พระสงฆ์เจริญมงคลสูตรอันเป็นมงคล พร้อมทำน้ำมนต์สำหรับใช้ในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปจนถึงบทมงคลสูตร ผู้กล่าวนำจะจุดเทียนชนวนสำหรับให้บ่าวสาวจุดเทียนน้ำมนต์ เป็นการขอให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์ เป็นน้ำมนต์ที่เกิดจากการสวดพระปริตร ซึ่งถือว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ใช้ในกาลมงคลต่อไป

5. ตักบาตร หรือถวายสังฆทานแล้วตามด้วยถวายภัตตาหารเพล(หรือเช้า) หลังจากเสร็จสิ้นการทำน้ำมนต์แล้ว พิธีหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หากเป็นเวลาเช้าบ่าวสาวก็จะตักบาตรโดยใช้ทัพพีและใช้ขันใส่ข้าวใบเดียวกัน หรือหากเป็นช่วงสายก็จะเปลี่ยนเป็นการถวายสังฆทานแล้วตามด้วยการถวายภัตตาหารเพลแทน

6. พระสงฆ์อนุโมทนา เมื่อเสร็จสิ้นการตักบาตรหรือถวายภัตตาหารแล้ว พระสงฆ์ก็จะขึ้นบทสวดอนุโมทนา โดยระหว่างนี้บ่าวสาวจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้กับเทพยดา เจ้ากรรมนายเวร และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

7. พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นขั้นสุดท้ายสำหรับพิธีสงฆ์ โดยพระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำมนต์ให้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ่าวสาวและแขกที่มาร่วมงาน

sitphotographer019
sitphotographer026

เครดิตภาพจาก sitphotograph.com