ลำดับขั้นตอนการจัดงานแต่งงานแบบไทย

ไขข้อสงสัยเรื่องการแต่งงาน พร้อมบอกลำดับงานพิธีเช้าแบบไทย – Weddinglist


การแต่งงาน สื่อถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือการที่คนสองคนให้คำมั่นสัญญาต่อกัน ไม่ว่าในยามทุกข์หรือสุขก็จะร่วมสร้างชีวิตคู่ไปด้วยกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสถาบันครอบครัว ส่วนรูปพิธีจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีปฏิบัติหรือชนชั้นทางสังคม มักจะมีสิ่งของที่เป็นสื่อแทนคำมั่นสัญญา อาทิ ดอกไม้ แหวน เงิน หรือสินสอดทองหมั้นต่าง ๆ โดยวันนี้ Weddinglist อยากจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับประเพณีการแต่งงานให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก จึงได้รวบรวมเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับพิธีแต่งงานมาไว้ในบทความนี้แบบจัดเต็ม เพราะฉะนั้น อย่ารอช้าตามมาดูไปพร้อมกันได้เลย

ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 8 ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็เริ่มมีบทบาททำให้การแต่งงานเป็นเหมือนการสร้างบรรทัดฐานเรื่องความซื่อสัตย์และการไม่นอกใจ ให้ความสำคัญเรื่องคู่สมรสเดียว (Monogamy) แต่ในหลายยุคที่ผ่านมาผู้หญิงแทบจะไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจอะไร 

พิธีแต่งงาน คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ย้อนกลับไปในช่วง 2,350 ปีก่อนคริสต์กาล นักมนุษยวิทยาได้สันนิษฐานว่าการแต่งงานเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งเป็นการทำพิธีรวมชายหญิงให้เป็นหนึ่ง ถือเป็นวิธีสืบทอดเผ่าพันธ์ุและใช้เพื่อบ่งบอกว่าเด็กที่จะเกิดมาเป็นลูกของใคร ก่อนที่อีกหลายร้อยปีต่อมาจะเริ่มมีการจารึกกฎหมายฮัมมูราบีเกี่ยวกับการแต่งงานในรูปแบบของ “สัญญา” ระหว่างเจ้าบ่าวและพ่อของเจ้าสาว แต่จะยังไม่มีรูปแบบพิธีที่ชัดเจนและยังไม่มีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

จนเข้าสู่ช่วงยุคกลางศาสนาคริสต์ทำให้เชื่อว่าการแต่งงานเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิ์ในการเลือกคู่ครองอย่างอิสระ จนเข้าสู่ปีค.ศ. 1753 ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องแต่งงาน ซึ่งเขียนโดยลอร์ดฮาร์วิค ทำให้เริ่มมีรูปแบบงานแต่งงานที่ออกมาเป็นสากลขึ้นและกลายเป็นรูปแบบพิธีที่เราเห็นกันแพร่หลายในปัจจุบันนี้ด้วย

ลำดับพิธีเช้า พิธีสงฆ์

  กว่าจะเป็นประเพณีแต่งงานแบบไทยมีที่มายังไงบ้าง?

ในอดีตแม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุไว้ชัดเจนในเรื่องที่ไปที่มาของพิธีแต่งงานว่าใครนำแนวคิดนี้เข้ามา แต่ก็ปรากฏเรื่องของพิธีสู่ขอและกฎหมายเรื่องของสินสอดทองหมั้นไว้ในสมัยสุโขทัย จากการที่ตอนนั้นไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของขอม พระเจ้ามังรายจึงใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ปกครองประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีกฎหมายที่จะให้ชายหญิงสร้างชีวิตร่วมกัน โดยยังไม่ได้มีพิธีรีตองแต่เน้นความยินยอมของพ่อแม่ฝ่ายหญิงและตัวผู้หญิงเป็นสําคัญ มีการนำขันหมากมาขอหมั้น มีสินสอดมาสู่ขอ

ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาก็จะได้เริ่มเห็นลักษณะพิธีแต่งงานที่ชัดเจนขึ้น อย่างมีการมาสู่ขอ มีพิธีสงฆ์ พิธีซัดน้ำ รวมถึงส่งบ่าวสาวเข้าเรือนหอ ซึ่งพิธีเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นต้นแบบพิธีงานแต่งเช้าที่เราสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีให้เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น อาทิ เปลี่ยนจากการซัดน้ำเป็นการรดน้ำสังข์แทนตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือจะลดขั้นตอนในขบวนขันหมากลงไปบ้างเพื่อความรวดเร็ว แต่ยังคงไว้ซึ่งความสวยงามอย่างไทยเหมือนเดิมค่ะ

การแต่งงานสำคัญไฉน ทำไมเราต้องเข้าพิธีแต่งงาน?

เชื่อว่าหนุ่มสาวหลายคนในสมัยนี้ต้องมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแต่งงาน ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้การแต่งงานดูจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคู่หนุ่มสาวโดยตรง ส่วนผู้ใหญ่เป็นเหมือนสักขีพยานมากกว่า โดยปัจจุบันคู่รักส่วนใหญ่ก็อาจจะให้ความสำคัญในเรื่องของการเข้าพิธีหรือการทำตามจารีตประเพณีแต่งงานน้อยลง 

พิธีแต่งงานเช้า กรวดน้ำ

แต่ต้องบอกก่อนว่าการแต่งงานนั้นก็มีความหมายและนัยยะที่สำคัญมาก ๆ ทั้งเรื่องของการให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือแม้แต่เรื่องกฎหมายการมีชีวิตคู่ อย่างเดิมทีในสมัยสุโขทัยแม้ว่าจะไม่ได้มีการเข้าพิธีแต่งงานกันเป็นกิจลักษณะ แต่การที่ชายถูกใจหญิงใดก็ต้องมีการยกขันหมากมาสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติ เพราะในอดีตคนไทยเชื่อว่าลูกสาวเป็นเสมือนทรัพย์สมบัติของบ้าน เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ แต่เมื่อตบแต่งไปแล้วก็จะกลายเป็นสมบัติของสามีและไม่ได้กลับมาข้องแวะกับที่บ้านอีก ดังนั้น ฝ่ายชายจึงต้องมาสู่ขอฝ่ายหญิงไปเป็นภรรยาอย่างถูกต้อง 

ในปัจจุบันการแต่งงานก็ยังคงสื่อถึงความหมายของการให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่ อีกทั้งยังเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างชีวิตคู่และการมีสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน สามารถตัดสินใจอะไรหลาย ๆ อย่างแทนกันได้และมีลูกที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองบุตรอย่างถูกต้อง การแต่งงานจึงเป็นเหมือนการมีกฎหมายมารองรับชีวิตคู่ของเราในระยะยาวนั่นเองค่ะ

สินสอดทองหมั้น พิธีเช้า

  ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนแต่งงาน

  • หาฤกษ์แต่งงาน แน่นอนว่าการแต่งงานแบบไทยจะให้ความสำคัญเรื่องการดูฤกษ์ยามมาก ๆ หาวันหรือเดือนที่เหมาะกับการจัดพิธี โดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายอาจจะให้พระดูจากวันเดือนปีเกิดของชายหญิงเพื่อหาฤกษ์มงคลให้ค่ะ
  • พูดคุยเรื่องงบจัดงานและสินสอด ถือเป็นสิ่งที่บ่าวสาวจะต้องพูดคุยและเข้าใจตรงกัน มีการวางแผนว่าจะใช้งบจัดงานทั้งหมดเท่าไหร่ และจะใช้ไปกับส่วนไหนบ้างเพื่อไม่ให้งบบานปลาย รวมไปถึงเรื่องของสินสอดทองหมั้นที่ทั้งสองครอบครัวต้องตกลงกันให้ลงตัว ซึ่งบางคู่ก็อาจจะใช้สินสอดฝ่ายชายไปสู่ขอ หรือจะใช้ทรัพย์สินของบ่าวสาวที่หาร่วมกันมา ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัวด้วยค่ะ
สถานที่จัดงานแต่งงาน พิธีเช้า
  • เลือกสถานที่และออแกไนซ์ ต่อมาก็เดินหน้าหาสถานที่จัดงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการของคู่เรา โดยอาจจะดูหลาย ๆ ที่เพื่อเปรียบเทียบกัน ดูความสะดวกในการเดินทาง พื้นที่จัดงานอาหารในงานหรือแพ็กเกจแต่งงานที่ซับพอร์ตกับงบเรามากที่สุด รวมถึงการหาออแกไนซ์ตกแต่งสถานที่และคนรันงานต่าง ๆ เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพรวมว่างานของเราจะออกมาแบบไหนและใช้เวลาเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหนค่ะ
การ์ดแต่งงาน
ของชำร่วยงานแต่ง
  • การ์ดแต่งงานและของชำร่วย เป็นส่วนต่อมาที่จะต้องเตรียมตัว เพราะเกี่ยวกับแขกโดยตรง ควรจัดทำล่วงหน้า 4-5 เดือน โดยเผื่อเวลาสำหรับความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาด เช่น การ์ดพิมพ์ไม่ครบ ของชำร่วยผลิตไม่ทัน เป็นต้น
  • หาชุดและช่างแต่งหน้า ต่อมาต้องมาดูเรื่องหน้าผมและชุดของบ่าวสาวที่จะใส่วันแต่งงาน ซึ่งหลาย ๆ คู่ก็อาจจะดูจากรีวิวของบ่าวสาวคู่อื่น ๆ อยากได้ลุคแบบไหนก็สามารถดูตามเครดิตที่คู่อื่นให้ไว้ในรีวิวแต่งงาน และแนะนำให้จองไว้ล่วงหน้า 1-2 เดือนค่ะ
  • หาช่างภาพและถ่ายพรีเวดดิ้ง แน่นอนว่าแต่งงานมีครั้งเดียว ดังนั้น หลายคู่ก็ควรจะจองช่างถ่ายรูปไว้สำหรับถ่ายพรีเวดดิ้งและวันจริงด้วยนะคะ อาจจะดูตามเครดิตที่แนะนำในรีวิวหรือว่าหาจากโปรไฟล์ช่างภาพ ลองเปรียบเทียบกันหลาย ๆ แบบ เลือกที่ถูกจริตของคู่เรามากที่สุดจะได้มีภาพสวย ๆ เก็บไว้เป็นความทรงจำกัน

สำหรับบ่าวสาวคู่ไหนที่อยากต้องการศึกษาขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนแต่งงานอย่างละเอียด สามารถเข้าไปอ่านฉบับเต็มได้ที่บทความ 9 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการวางแผนเตรียมงานแต่งงาน ได้เลยค่ะ

ชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว

ลำดับขั้นตอนการจัดงานแต่งงานในพิธีเช้า

ขั้นตอนลําดับพิธีแต่งงานเช้าเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญมาแต่ช้านาน ซึ่งในช่วงเช้านั้นมักจัดตามธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติตามกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งบางส่วนของพิธีการนั้นอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามสมัยนิยมหรือตามแต่ละท้องถิ่น เพราะฉะนั้นทีมงาน Weddinglist ได้รวบรวมรายละเอียดแล้วสรุปเป็นขั้นตอนง่าย ๆ มาให้บ่าวสาวหลาย ๆ คู่ได้ศึกษาและสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับงานของตนเองกันได้ด้วยค่ะ โดยจะเป็นขั้นตอนที่อัปเดตให้เป็นปัจจุบัน (2567 / 2024 ) และมีลำดับดังต่อไปนี้

พิธีสงฆ์ พิธีเช้า

พิธีสงฆ์ (เริ่ม 07.00 – 07.30 น.)

เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเป็นสิริมงคลตามคติ “ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน” โดยจะมีนิมนต์พระมานั่งที่อาสนะเพื่อทำพิธีสงฆ์ คู่บ่าวสาวจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีลและรับศีล 5 จากนั้นพระสงฆ์ เจริญสูตรพระพุทธมนต์ พร้อมทำน้ำมนต์สำหรับใช้ในพิธี แล้วต่อด้วยการตักบาตร 

โดยขั้นตอนนี้ข้างต้นนี้จะอยู่ในกรณีเริ่มพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าแล้วต่อด้วยการถวายสังฆทาน แต่ถ้าพิธีสงฆ์จัดช่วงสายก็จะเปลี่ยนมาถวายเพลแทน ปิดท้ายด้วยการถวายดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องปัจจัยไทยธรรม พร้อมทั้งประพรมน้ำมนต์เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล

พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง

เริ่มกั้นประตูเงินประตูทอง (07.45 น.)

ต่อมาฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมตัวกั้นประตูเงินประตูทองเพื่อรอต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าวที่จะแห่ขบวนขันหมากมา โดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจะทำการกั้นทั้งหมด 3 ประตูตามประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ ประตูชัย ประตูทอง ประตูทอง เพื่อเรียกค่าเปิดทางจากทางฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนใหญ่จะเลือกเป็นเพื่อนเจ้าสาว ญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาวที่ต่อรองหรือเจรจาเก่ง เป็นอีกพิธีที่เรียกรอยยิ้มได้อย่างดี

พิธีแห่ขันหมาก

พิธีแห่ขันหมาก (08.00 น.)

ตัดมาทางฝั่งของเจ้าบ่าวที่ต้องตั้งขบวนแห่ขันหมากไปหาฝั่งเจ้าสาว ซึ่งในปัจจุบันนั้นจะมีการรวมขันหมากหมั้นและขันหมากแต่งไว้ในวันเดียวกัน โดยในขบวนขันหมากที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวเตรียมมานั้น จะมีการจัดทั้งขันหมากเอกและขันหมากโท โดยจะมีการนำเด็กหญิงมารอรับพานขันหมาก จากนั้นขบวนขันหมากก็จะเตรียมตัวเข้าไปในบ้าน ซึ่งจะต้องผ่านด่า ประตูทั้ง 3 โดยเจ้าบ่าวจะเตรียมซองไว้เพื่อเป็นค่าผ่านประตู หลังจากนี้ถือเป็นพิธีการช่วงต่อไป

พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด (08.00 – 08.30)

เมื่อทางฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เริ่มเข้าสู่พิธีถัดไป คือการนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงยินยอมแล้วผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิดเพื่อทำพิธีนับสินสอด และจัดวางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง

จากนั้นผู้ใหญ่จะทำทีเป็นตรวจนับตามธรรมเนียม หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทองที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด เพื่อเป็นเคล็ดว่าคู่บ่าวสาวจะมีเงินทองและความรักที่งอกเงย ต่อมาแม่ของเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี

พิธีสวมแหวน ลำดับพิธีเช้า

พิธีสวมแหวนหมั้น (08.45 – 09.00 น.)

หลังจากผ่านพิธีนับสินสอดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาฤกษ์อันเป็นมงคลตามที่กำหนดฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้ลงบนตักของฝ่ายชายพร้อมสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย เสร็จแล้วก็จะมีการถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก

พิธีรับไหว้หรือพิธีไหว้ผู้ใหญ่ (09.10 – 09.30 น.)

ต่อมาถือเป็นพิธีสำคัญเพราะเป็นการที่คู่บ่าวสาวจะฝากเนื้อฝากตัวกับครอบครัวของกันและกัน โดยทั้งคู่จะต้องไหว้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ด้วยการก้มกราบ 3 ครั้ง ส่วนญาติคนอื่นให้กราบครั้งเดียวและไม่ต้องแบมือ เมื่อก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือคู่บ่าวสาว พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงินหรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว

พิธีประสาทพร
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์

พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร (09.45 – 10.00 น.)

สำหรับการทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร เริ่มจากบ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้ายซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ โดยประธานในพิธีจะทำการคล้องพวงมาลัยและสวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาวพร้อมทั้งเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด และแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อย

จากนั้นประธานจะหลั่งน้ำและอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่และเชิญแขกอื่น ๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส เพื่อเป็นการอวยพรและเสริมสิริมงคลให้แก่บ่าวสาวได้ใช้ชีวิตคู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญก้าวหน้าตามความเชื่อแบบศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

พิธีส่งตัวเข้าหอและพิธีร่วมเรียงเคียงหมอน (10.00 น. เป็นต้นไป)

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในช่วงเช้า โดยความสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ซึ่งจะมาทำพิธีปูที่นอน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวในอนาคต หรือที่เรียกกันว่าพิธีร่วมเรียงเคียงหมอน โดยจะเริ่มจากการให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวอบอุ่น รักกันหวานชื่นมาจัดที่นอนในห้องหอ 

ซึ่งทั้งหมดในพิธีเป็นการถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีไปด้วย มีการจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน ได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้า, ฟักเขียว, แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว), พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว และขันใส่น้ำฝนมาประกอบพิธี

พิธีส่งตัวเข้าหอและพิธีร่วมเรียงเคียงหมอน

ต่อมาก็จะพาเจ้าบ่าวเข้ามารอในห้องหอแล้วเจิมหน้าผากก่อนจะพาตัวเจ้าสาวเข้ามา เจ้าสาวจะต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร และเมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นคนพามามอบให้กับเจ้าบ่าวพร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลลูกสาวด้วย จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นอันประกอบพิธีงานแต่งเช้าเสร็จสิ้นตามประเพณีไทย จากนั้นจะเป็นการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงานนั่นเองค่ะ

ประเพณีการแต่งงานของไทยนับว่ามีความสวยงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลําดับพิธีที่ค่อนข้างละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน ซึ่งจริง ๆ แล้วแก่นแท้ของแต่ละส่วนในพิธีจะสื่อถึงการรักและเคารพครอบครัว การให้เกียรติซึ่งกันและกันของบ่าวสาว อีกทั้งยังเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่ด้วย เพราะฉะนั้นทาง Weddinglist ก็หวังว่าเนื้อหาที่รวบรวมมาฝากวันนี้จะมีประโยชน์กับทุกคนได้เป็นอย่างดีนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก… 

  • http://wedding.kapook.com/view63077.html
  • https://www.facebook.com/impressshot/
  •  https://www.facebook.com/Weddingathome/ 
  • https://www.facebook.com/Bangkok-garden-studio-1684110278527205/
  • https://www.pinterest.com/ 
  • https://theweek.com/articles/528746/origins-marriage 
  • https://www.brides.com/buddhist-wedding-5081206?utm_source=pinterest&utm_medium=social&utm_campaign=mobilesharebutton2