Untitled 4

7 ขั้นตอนของประเพณี ‘กินดอง’ ประเพณีแต่งงานตามแบบฉบับชาวอีสานแท้ ๆ


แม้ว่าในปัจจุบันหลายคนอาจจะคุ้นชินกับภาพของการแต่งงานตามแบบตะวันตก ที่มีทั้งการตัดเค้ก รินแชมเปญ หรือโยนช่อดอกไม้ แต่ใครจะรู้ว่าแท้ที่จริงชาวไทยเราเองก็มีประเพณีการแต่งงานที่เฉพาะดั้งเดิมและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่างประเพณีการแต่งงานของชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งชาวอีสานเรียกขานประเพณีแต่งงานนี้ว่า ‘ประเพณีกินดอง’ แต่ไม่ใช่การกินของหมักของดองหรืออะไรนะคะ เพราะคำว่า กินดอง นั้นหมายถึงการนับเป็นญาติเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยพิธีมงคลสมรสนั่นเองค่ะ

รีวิวแต่งงาน อีสาน 28

ขั้นตอนในการจัดพิธีแต่งงานแบบชาวอีสานแท้ ๆ นั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อน แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหมายลึกซึ้งทีเดียวค่ะ หากหนุ่ม ๆ คนไหนอยากจะไปขอสาวอีสานแต่งงาน เตรียมปากกาขึ้นมาจดกันเลยนะคะ

1. ‘การโอม’ หรือการสู่ขอ

จะแต่งงานทั้งที ถ้าไม่ไปสู่ขอให้เป็นเรื่องเป็นราวก็ดูยังไงอยู่ การสู่ขอ หรือการโอม (บางพื้นที่เรียกว่า การขอเมีย) ที่ถูกต้องตามประเพณีของชาวอีสานคือ การที่ฝ่ายชายต้องพาผู้ใหญ่มาเป็นเถ้าแก่สู่ขอฝ่ายหญิง แต่จะไปตัวเปล่าไม่ได้เด็ดขาดนะคะ จะต้องเตรียมสิ่งของสำคัญเหล่านี้ไปด้วย ได้แก่ ขันใส่หมากจีบพลูพัน พร้อมด้วยเงินอีก 3 บาท (ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคล) ซึ่งเรียกกันว่า ‘เงินไขปาก’ จากนั้นพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะหยิบหมากพลูในขันมาเคี้ยว 2 คำพอเป็นพิธี ก่อนที่จะพูดคุยตกลงเรื่องสินสอดกันต่อไปค่ะ

2. ตกลงเรื่อง ‘ค่าดอง’ หรือค่าสินสอด

หลังจากที่ทำการสู่ขอและตกลงเรื่องฤกษ์งามยามดีกันเรียบร้อย ก็ถึงเวลาพูดคุยกันเรื่องสินสอดทองหมั้น ซึ่งในภาษาอีสานเรียกกันว่า ‘ค่าดอง’ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงกัน เมื่อตกลงกันได้แล้วระหว่างที่รอให้ถึงวันหมั้นหรือวันแต่งงาน ฝ่ายชายก็มีหน้าที่ตระเตรียมเงินทองมาเป็นค่าดอง ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ ที่นอนหมอนมุ้งและของรับไหว้ต่าง ๆ ค่ะ

3. วันมื้อเต้า วันมื้อโฮม 

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าวันมือเต้า และวันมื้อโฮมคืออะไร วันนี้ Weddinglist มีคำตอบค่ะ ตามประเพณีของชาวอีสานก่อนถึงวันแต่งงานจะต้องมีการจัดงานเลี้ยงให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนหรือคนในหมู่บ้านที่เอาข้าวของมาให้หรือมาลงแรงช่วยกันจัดเตรียมงานแต่งงานที่บ้านของฝ่ายเจ้าสาว วันมื้อเต้าจึงเป็นวันที่ทุกฝ่ายร่วมกันเตรียมสิ่งของ ส่วนวันก่อนวันแต่งงานจริง ๆ เรียกว่า วันมื้อโฮม บางพื้นที่ก็เรียกว่า มื้อสุกดิบ กิจกรรมในวันมื้อโฮมนั้นหลัก ๆ ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมสวดมนต์ ทั้งบ่าวสาว ครอบครัวและเพื่อนพ้องจะมาร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรมค่ะ

รีวิวแต่งงาน อีสาน 11

4. การแห่ขันหมาก

เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเคลื่อนขบวนขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง นำขบวนโดย ‘เจ้าโคตร’ ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดในครอบครัวของฝ่ายชาย ตามด้วยเจ้าบ่าว พาขวัญ (พานบายศรี) ซึ่งต้องถือโดยหญิงสาวที่บริสุทธิ์เท่านั้น ถัดมาจึงค่อยเป็นขันเหล้า ขันหมากพลู และญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าบ่าวตามลำดับ ระหว่างเคลื่อนขบวนก็จะมีการบรรเลงเพลงไปด้วยเพื่อสร้างความสนุกสนานครึกครื้น และเป็นการประกาศให้ชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่ากำลังจะมีงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าโคตรและเจ้าบ่าวจะต้องทำการล้างเท้าด้วยหินลับมีดที่ปูด้วยใบตอง ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพค่ะ

onlfd49gwYrjFnYIXGC o

เมื่อเข้าไปในบ้านของฝ่ายหญิงได้แล้วก็ถึงขั้นตอนที่ฝ่ายชายจะทำการมอบสินสอด โดยญาติทางฝ่ายหญิงจะเป็นผู้นับและโปรยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว งาลงบนสินสอดซึ่งถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความเป็นสิริมงคล เงินทองจะได้งอกเงยดังเช่นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เมื่อเสร็จสิ้นญาติฝ่ายเจ้าสาวจะพาเจ้าบ่าวไปที่ห้องหอ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า เจ้าบ่าวจะต้องมานอนกับเจ้าสาวที่ห้องนี้ ขณะเดียวกันญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวที่เป็นผู้หญิงก็จะพาเจ้าสาวไปที่ห้องเพื่อรอทำพิธีสู่ขวัญ

onlfz3ez3Y8O1uFtkHV o

5. พิธีสู่ขวัญ

สำหรับพิธีสู่ขวัญนั้นเป็นพิธีที่จะต้องกระทำโดยหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์ ซึ่งจะทำการสวดอวยพรให้แก่บ่าวสาว บ่าวสาวจะต้องนั่งเคียงคู่กัน โดยเจ้าสาวจะนั่งทางฝั่งซ้ายของเจ้าบ่าว เมื่อสวดเรียบร้อยหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์จะนำไข่ต้มบนยอดพาขวัญ (บายศรี) มาแบ่งครึ่งเพื่อให้บ่าวสาวกินกันคนละครึ่งฟอง เรียกว่า ‘ไข่ท้าว’ กับ ‘ไข่นาง’ จากนั้นก็ผูกข้อไม้ข้อมือกัน ซึ่งผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานทุกคนจะต้องผูกข้อมือให้บ่าวสาวพร้อมกับกล่าวคำอวยพรไปด้วยจึงจะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีสู่ขวัญค่ะ

รีวิวแต่งงาน อีสาน 19
รีวิวแต่งงาน อีสาน 21

6. การสมา หรือขอขมาญาติผู้ใหญ่ 

นอกจากจะกราบไหว้เพื่อแสดงความเคารพและขอขมาแล้วนั้น ตามประเพณีของชาวอีสาน บ่าวสาวจะต้องมอบของแด่ผู้ใหญ่ด้วย สิ่งของที่ต้องมอบให้คือ ผ้าโสร่ง 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ให้แก่พ่อของทั้งสองฝ่าย และผ้าซิ่น 1 ผืน พร้อมด้วยเสื้อผู้หญิงอีกหนึ่งตัวให้แก่แม่ของทั้งสองฝ่าย จากนั้นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนในเรื่องของการครองเรือนต่อไป

รีวิวแต่งงาน อีสาน 22
รีวิวแต่งงาน อีสาน 18

7. พิธีส่งตัวเข้าหอ

ในส่วนของพิธีส่งตัวนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากพิธีแต่งงานของภาคอื่น ๆ มากนักค่ะ เริ่มต้นตั้งแต่การปูที่นอน จะต้องให้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่เป็นผู้ปูที่นอนให้ โดยจะจัดวางหมอนของเจ้าบ่าวไว้ทางด้านขวา ในตำแหน่งที่สูงกว่าหมอนของเจ้าสาวในด้านซ้ายเล็กน้อย จากนั้นจึงทำพิธีนอนเอาฤกษ์ และจูงมือคู่บ่าวสาวเข้ามาในห้องหอที่จัดเตรียมไว้ เมื่อให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาวเรียบร้อยก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานตามแบบฉบับของชาวอีสานแล้วค่ะ

รีวิวแต่งงาน อีสาน 26