infamilywetrust cover

มรดกเป็นของใคร? เปิดปมปัญหาจากละคร เลือดข้นคนจาง


เป็นอีกหนึ่งในกระแสที่มีคนพูดถึงและติดตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง ที่ออกอากาศทุกคืนวันศุกร์และเสาร์ ทางช่องวัน 31 ซึ่งหลังจากที่เนื้อเรื่องดำเนินมาจนถึงตอนที่ประเสริฐ ทายาทคนโตของตระกูลจิระอนันต์ ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้าน และการเสียชีวิตของเขายังได้ทิ้งปมปัญหาต่าง ๆ ไว้ให้ผู้ชมได้ขบคิดและตามสืบสาวราวเรื่องต่อไป โดยในที่นี้ ผมจะกล่าวถึงเรื่องมรดกของประเสริฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้ชมกำลังสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มีจำนวนมากนั้น จะสามารถแบ่งให้ทายาทได้อย่างไรบ้าง

เลือดข้นคนจาง 1

ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดกจากประเสริฐ

โดยทั่วไปมรดกมักจะตกเป็นของทายาทผู้สืบสกุล ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ได้บัญญัติถึงเรื่องมรดกไว้ดังนี้

เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดอยู่แก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

ซึ่งในมาตรา 1603 ได้นิยามคำว่า “ทายาท” เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” (มีผลในกรณีที่ผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมไว้ก่อนแล้ว)
  • ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” (มีผลในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้เขียนพินัยกรรม)

ถ้าประเสริฐได้เขียนพินัยกรรมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่ประเสริฐเคยเขียนไว้ โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ ในพินัยกรรมได้ แต่เนื่องจากการเสียชีวิตของประเสริฐได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเสริฐจะไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ ดังนั้น คำว่าทายาทโดยธรรม จะมีผลในการแบ่งมรดกทันที

ถ้าพูดถึงทายาทโดยธรรม ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 ได้เรียงลำดับทายาทดังต่อไปนี้

  • ทายาทลำดับที่ 1 : ผู้สืบสันดาน (ลูก)
  • ทายาทลำดับที่ 2 : บิดามารดา
  • ทายาทลำดับที่ 3 : พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  • ทายาทลำดับที่ 4 : พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
  • ทายาทลำดับที่ 5 : ปู่ ย่า ตา ยาย
  • ทายาทลำดับที่ 6 : ลุง ป้า น้า อา
เลือดข้นคนจาง 2

คู่สมรสอยู่ในส่วนใดของลำดับทายาท 

คำตอบคือ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมมีสิทธิในการได้รับมรดกเช่นกัน (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 ว่าด้วยเรื่องการแบ่งมรดกให้แก่คู่สมรส)

นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกจากประเสริฐ จะมีดังต่อไปนี้

  • ทายาทลำดับที่ 1 : *นิภา (จดทะเบียนสมรสกับประเสริฐ ก่อนที่ประเสริฐจะเสียชีวิตในวันต่อมา)
  • ทายาทลำดับที่ 1 : ฉี (ลูกชายที่เกิดจากนิภา)
  • ทายาทลำดับที่ 1 : **พีท (ลูกชายที่เกิดจากคริส ซึ่งหย่ากับประเสริฐมาเป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว)
  • ทายาทลำดับที่ 2 : อาม่า (อากงเสียชีวิตไปแล้ว)
  • ทายาทลำดับที่ 3 หรือ 4 : เมธ, ภัสสร, กรกันต์

*คู่สมรสถือเป็นทายาทลำดับที่ 1 เทียบเท่ากับลูก

**สถานะของพีทถือเป็นบุตรนอกสมรส ถ้าประเสริฐรองรับพีทเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะมีสิทธิได้รับมรดกเช่นกัน

เลือดข้นคนจาง 4
เลือดข้นคนจาง 3

แล้วจะแบ่งมรดกกันอย่างไร ใครเป็นคนจัดการเรื่องนี้

ในทางกฎหมายจะมี “ผู้จัดการมรดก” มาจัดการแบ่งทรัพย์สินให้แก่ทายาท ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกที่ศาลเห็นตามสมควรก็ได้ ซึ่งในละครเลือดข้นคนจางจะต้องมีปัญหานี้ตามมาแน่นอน แล้วทายาทลำดับที่ 1 อย่างนิภา ฉี และพีท จะสามารถดำเนินการเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง

เลือดข้นคนจาง 5

นิภา

แยกสินสมรสออกจากทรัพย์สินของประเสริฐก่อน แล้วแบ่งสินสมรสเป็น 2 ส่วนเท่ากัน โดยส่วนที่ 1 เป็นของนิภา และส่วนที่ 2 นำกลับไปรวมกับทรัพย์สินของประเสริฐ ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ได้บัญญัติคำนิยามของสินสมรสดังนี้

สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

  1. ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
  2. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส 
  3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

ซึ่งนิภาจะได้ส่วนแบ่งตรงนี้เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาที่สมรสกันได้แค่ 2 วัน ประเสริฐก็จากไป ทั้งคู่จะมีมูลค่าสินสมรสเท่าไหร่นั่นเอง

เลือดข้นคนจาง 9
เลือดข้นคนจาง 8

ฉีและพีท

ทั้งคู่สามารถใช้สิทธิทายาทลำดับที่ 1 เข้ามาจัดการแบ่งมรดกของพ่อได้ แต่ถ้าไม่สามารถจัดการมรดกของประเสริฐได้ลงตัว ฉีและพีทสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ ตามมาตรา 1713 ซึ่งทางศาลจะจัดตั้งผู้จัดการมรดก 1 คน หรือมากกว่านั้นตามสมควร โดยคำนึงถึงเจตนาเจ้าของมรดกเป็นหลัก

เลือดข้นคนจาง 11 1

ถ้าเคลียร์เรื่องการจัดการมรดกได้แล้ว ลองมาแบ่งดูกัน

สมมุติฐาน : ถ้าประเสริฐมีทรัพย์สินทั้งหมดรวมมูลค่า 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาท) หลังหักสินสมรส หนี้สิน และทรัพย์สินส่วนอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว มาดูกันว่า ทายาทแต่ละคนจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอย่างไรบ้าง

โดยผู้มีสิทธิเบื้องต้นในการรับมรดก จะนับเพียงทายาทลำดับที่ 1 – 2 ซึ่งประกอบด้วย นิภา (คู่สมรส), ฉี (ผู้สืบสันดาน), พีท (ผู้สืบสันดาน), อาม่า (มารดา) ซึ่งสามารถแบ่งทรัพย์สินของประเสริฐตามลำดับทายาทได้เป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน (คู่สมรส + ผู้สืบสันดาน + บิดามารดา) ดังนี้

นิภา 

จะได้รับส่วนแบ่งมรดกส่วนที่ 1 ตามสิทธิของทายาทลำดับที่ 1 อย่างน้อย 100,000,000 / 3 = 33,333,333 บาท (ยังไม่รวมมรดกที่ได้จากสินสมรส)

ฉี พีท

จะได้รับส่วนแบ่งมรดกส่วนที่ 2 ตามสิทธิของทายาทลำดับที่ 1 อย่างน้อย 100,000,000 / 3 = 33,333,333 บาท เมื่อนำมาหาร 2 แล้ว ฉีและพีทจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 333,333,333 / 2 = 16,666,666 บาท

แต่ถ้าพีทไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมาย พีทจะไม่มีสิทธิใด ๆ กับส่วนแบ่งมรดกกองนี้เลย

อาม่า 

จะได้รับส่วนแบ่งมรดกส่วนที่ 3 ตามสิทธิของทายาทลำดับที่ 2 อย่างน้อย 100,000,000 / 3 = 33,333,333 บาท

เมธ ภัสสร และกรกันต์ จะมีสิทธิได้รับมรดกจากประเสริฐก็ต่อเมื่อ

  1. ประเสริฐได้เขียนพินัยกรรมไว้
  2. มีส่วนที่เหลือหลังจากที่แบ่งให้ทายาทลำดับที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว
  3. ประเสริฐไม่มีลูก แต่มีคู่สมรส และพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่ง 50% ให้ไปแบ่งต่อคนละเท่า ๆ กัน
  4. ประเสริฐไม่มีลูกและคู่สมรส และพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว (ไม่มีทายาทลำดับที่ 1 – 2) พี่น้องก็จะได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน
เลือดข้นคนจาง 10 1

ก๋วยเตี๋ยวมีสิทธิได้รับมรดกแทนแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่

ก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ใกล้ชิดอากงกับอาม่าตั้งแต่เด็ก เป็นลูกชายของมนฤดี น้องสาวอีกคนของประเสริฐที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งตอนที่อากงเขียนพินัยกรรม ปรากฏว่าลูกหลานสายมนฤดีไม่ได้รับส่วนแบ่งใด ๆ เลย (ขนาดภัสสรที่ยังมีชีวิตอยู่ยังได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ แล้วจะนับประสาอะไรกับคนที่ตายไปแล้วล่ะ) ซึ่งประเด็นนี้ก๋วยเตี๋ยวไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านหรือร้องขอใด ๆ เพราะพินัยกรรมของอากงถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

กรณีของประเสริฐ ถ้าบรรดาพี่น้องของประเสริฐได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย หากพิจารณาตามลำดับทายาทแล้ว ก๋วยเตี๋ยวเป็นหลานของประเสริฐ ซึ่งไม่ได้อยู่ในทายาททั้ง 6 ลำดับ เพราะฉะนั้น ก๋วยเตี๋ยวจึงหมดสิทธิ์ในส่วนแบ่งนี้ไปในทางกฎหมายโดยปริยาย

เลือดข้นคนจาง 12

จริง ๆ แล้ว คริสมีสิทธิได้มรดกจากประเสริฐด้วยหรือไม่

หลังจากที่พีทได้ทราบความจริงตอนที่ไปให้การกับตำรวจว่า ประเสริฐกับคริสได้หย่าร้างกันมา 24 ปีแล้ว (พีทอายุ 23 ปี แสดงว่าหย่ากันก่อนพีทเกิด 1 ปี) หลายคนคงฟันธงแล้วว่า คริสจะไม่มีสิทธิในการรับส่วนแบ่งจากมรดกแน่นอน ถ้าประเสริฐไม่ได้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้แก่คริส เพราะกฎหมายไทยรองรับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) เพียง 1 คนเท่านั้น

แต่เมื่อหย่ากันแล้ว ปรากฏว่าคริสท้องและให้กำเนิดลูกชายออกมาคือ พีท จึงทำให้คริสกับประเสริฐตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกันต่อไปเพื่อเลี้ยงดูพีทจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น คริสกับประเสริฐจึงถือเป็น หญิงชายที่อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ทรัพย์สินที่ทั้งคู่หามาได้ร่วมกันตลอด 24 ปีที่ผ่านมาจะถูกเรียกว่า กรรมสิทธิ์รวม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1356

สถานะดังกล่าวของคริส จะมีสิทธิรับมรดกได้อย่างไรบ้าง

คริสสามารถรับส่วนแบ่งมรดกเฉพาะจากกรรมสิทธิ์รวม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ความว่า

เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร (หมายถึงอสังหาริมทรัพย์) ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้

สรุปง่าย ๆ คือ คริสจะได้รับส่วนแบ่งเบื้องต้น 50% เฉพาะในส่วนของกรรมสิทธิ์รวม (หมายถึงทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการหามาร่วมกัน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือใช้ชื่อร่วมกันก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน รถ บัญชีเงินฝากในธนาคาร บัตรเครดิต เป็นต้น) ส่วนเรื่องส่วนแบ่งจากสินสมรสไม่ต้องพูดถึง เพราะสิทธินี้ตกเป็นของนิภาคนเดียวเท่านั้นครับ

เลือดข้นคนจาง 13

บุตรนอกสมรส พีทจะมีสิทธิรับมรดกจากประเสริฐหรือเปล่า

พีทเกิดหลังจากที่ประเสริฐหย่ากับคริส 1 ปี เท่ากับว่าเกิดมาพีทก็มีสถานะเป็นบุตรนอกสมรสแล้ว การที่บุตรนอกสมรส (กฎหมายไม่รับรอง) จะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของประเสริฐ สามารถทำได้ 3 วิธีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ดังนี้

  1. *บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง
  2. บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร โดยมารดาของบุตรและตัวบุตรต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือทั้งสองคน หรือ
  3. **มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร ในกรณีมารดาหรือบุตรไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ โดยศาลจะพิจารณาจากพฤติกรรมต่าง ๆ ของบิดา

* กรณีนี้ ถ้าประเสริฐไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนิภา แล้ววันต่อมาประเสริฐเสียชีวิต ฉีก็จะมีโอกาสได้รับส่วนแบ่งมรดกจากพ่อน้อยมาก แต่ฉีจะมีสิทธิได้รับมรดกเฉพาะจากแม่ในเบื้องต้น

** ถ้าพีทสามารถยืนยันได้ว่า ประเสริฐมีพฤติกรรมที่รองรับตนเป็นลูก เช่น ใช้นามสกุลจิระอนันต์เหมือนกับพ่อ, อยู่บ้านเดียวกัน, พ่อจ่ายค่าเทอมให้, ไปรับ – ส่งที่โรงเรียน เป็นต้น พีทจะมีสิทธิเท่ากับฉีในการรับส่วนแบ่งมรดกจากพ่อ ตามข้อมูลกฎหมายบุตรนอกสมรสกับการรับมรดก ดังนี้ครับ

เฉพาะในเรื่องสิทธิในการรับมรดก ไม่จำเป็นต้องให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาก่อน เพียงแต่มีพฤติการณ์ว่าบิดาเคยให้การรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของตนไว้อย่างไร บุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสนั้นก็ถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้

ที่มา : http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowledge_07.htm

หากพิจารณาจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในละครระหว่างพีทกับประเสริฐ ก็มีอยู่ตอนหนึ่งที่สันณิษฐานไว้ก่อนได้ว่า ประเสริฐรองรับพีทเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เลือดข้นคนจาง 15

จากข้อมูลในละครเลือดข้นคนจาง ตอนที่ 1 ฉากที่พีทแอบใช้บัตรเครดิตในโทรศัพท์ของคริสซื้อนาฬิกาข้อมือราคา 600,000 บาท แล้วโดนคริสจับได้และบ่นว่า รู้ไหมว่าเดือน ๆ นึงพีทช็อปปิ้งไปเท่าไหร่ แล้วม้าต้องจ่ายค่าเครดิตการ์ดโดยไม่บอกป๊าไปเท่าไหร่  จากประโยคดังกล่าวผมจึงวิเคราะห์ได้ว่า รายจ่ายส่วนนี้อาจเป็นเงินที่ประเสริฐส่งให้คริสกับพีทใช้จ่ายทั่วไปก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น การที่ประเสริฐส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้แก่พีทเป็นประจำนั้น สามารถยืนยันได้ว่า พีทเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเองครับ

เลือดข้นคนจาง 14
เลือดข้นคนจาง 10

ประเด็นเรื่องมรดกที่ผมกล่าวมานี้ ยังไม่ได้รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกรรมทางการเงิน หนี้สินที่ต้องเคลียร์หลังเจ้ามรดกเสียชีวิต, ทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดจากอากง หรือทรัพย์สินในกงสีที่เป็นของประเสริฐ เป็นต้น ซึ่งปมปัญหาต่าง ๆ ในละครจะถูกคลี่คลายอย่างไรบ้าง ต้องติดตามกันต่อไปจนจบครับ

ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล

ขอบคุณภาพประกอบจาก : Nadao Series