marriage property

สินของเธอVSทรัพย์ของฉัน…แล้วสินสมรสของเรานั้นแบ่งกันยังไง


สินสมรสนับว่าเป็นเรื่องความรักและเงินทองซึ่งเมื่อมาอยู่คู่กันแล้วก็นับว่าพูดคุยค่อนข้างลำบากใจ ระหว่างคู่แต่งงานจึงเกิดเป็นประเด็นให้ถกกันอยู่เนืองๆ สินของเธอVSทรัพย์ของฉัน…แล้วสินสมรสของเรานั้นแบ่งกันยังไงล่ะ? ไม่ต้องหนักใจไปนะ Weddinglist  มีคำตอบให้…เรามาดูกันดีกว่าว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสินส่วนตัว อะไรที่เป็นสินสมรส และเมื่อมีสินสมรสขึ้นมาแล้วควรจัดการยังไง

“สินส่วนตัว” คืออันไหนบ้างนะ

ถ้าพูดภาษาบ้านๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นทรัพย์สินของใครของมันก่อนจดทะเบียนสมรส ดังนี้เลย

  1. ทรัพย์สินก่อนการสมรส เช่น เงินฝากส่วนตัว เป็นต้น
  2. เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับตามส่วนตัว รวมไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ
  3. ทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดกหรือให้โดยเสน่หา เช่น พ่อแม่โอนที่ดินให้
  4. ของหมั้น สินสอดทองหมั้น(ถือเป็นของฝ่ายหญิงทั้งหมด)
  5. ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาย ซื้อ หรือแลกเปลี่ยนทรัพย์สินในข้อ 1-4 เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาถือเป็นสินส่วนตัว เช่น เอาเครื่องเพชรส่วนตัวไปขาย 
  6. ถ้าทรัพย์สินในข้อ 1-4 มีความชำรุดและได้รับของหรือเงินค่าชดเชยจากเหตุการณ์ใดๆ ของทรัพย์สินนั้น ของหรือเงินชดเชยที่ได้เป็นสินส่วนตัว เช่น บ้านไฟไหม้ได้เงินประกันจากเครื่องเพชร

“สินสมรส” คืออะไรนะ?

สินสมรสเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสอย่างมาก เพราะเมื่อหย่าขาดกันก็จะมีการแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างช่วงเวลาที่แต่งงานกัน ซึ่งหลักการในการจดทะเบียนแบ่งกันนั้น สินสมรสจะแบ่งให้ทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กันก็ได้ หรืออาจตกลงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งหมด หรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าก็ทำได้เช่นกัน สินสมรสมีดังนี้เลย

  1. ทรัพย์สินที่ทั่งคู่ได้มาระหว่างแต่งงาน เช่น เงินเดือน เงินโบนัสก็ถือเป็นสินสมรสเช่นกัน
  2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างแต่งงานโดยพินัยกรรม (ต่างกับมรดกในข้อแรกตรงที่มรดกจะตกทอดต่อทายาททุกอย่างเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม แต่พินัยกรรมเป็นการระบุทรัพย์สินชนิดนั้นๆ โดยเจตนาและเจาะจง) รวมถึงทรัพย์สินจากพินัยกรรมที่ระบุให้เป็นสินสมรสโดยเฉพาะด้วยนะ เช่น ระหว่างสมรสญาติถึงแก่กรรมแล้วยกเครื่องเพชรให้ทั้งคู่เป็นของขวัญร่วมกันถือว่าเป็นสินสมรส
  3. อกผลของสินส่วนตัว เช่น เงินเก็บส่วนตัวก่อนจดทะเบียนสมรสที่นำไปฝากธนาคารให้นับเอาดอกเบี้ยที่เกิดจากการฝากเงิน, เอาห้องแถวที่เป็นสินเดิมไปปล่อยเช่า เงินที่ได้จากการปล่อยเช่า เป็นสินสมรส
  4. ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฎที่มาแน่ชัดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
  5. กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนแบ่งสินสมรสไว้ก่อนว่า ให้แบ่งสินสมรสแก่ทั้งคู่เท่าๆ กัน

หวังว่าคงจะเห็นภาพกันบ้างแล้วใช่มั้ย เพียงเท่านี้ก็สามารถเตรียมตัวจัดสรรสินทรัพย์ก่อนจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องและชัดเจน ในบทความหน้าเราจะกล่าวถึงเรื่องสัญญาก่อนสมรสที่นับว่ามีบทบาทสำคัญในเคสที่คู่แต่งงานต้องการกันทรัพย์สินเฉพาะอย่างไว้ ทำแบบไหน ยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง ติดตามอ่านบทความดีๆ จากคอลัมน์กฏหมายของ Weddinglist ได้เลยยยย…