peninsula jesters 033

การลำดับขบวนขันหมากพิธีไทย มีรูปแบบการจัดยังไงบ้าง?


การแห่ขันหมากเป็นไฮไลท์สำคัญในพิธีแต่งงานแบบไทยที่ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับแขกที่มาร่วมงานได้อย่างดี โดยการจัดขบวนขันหมากสื่อถึงการแสดงความเคารพและให้เกียรติทางฝั่งเจ้าสาว ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงาม เพราะฉะนั้นพิธีนี้จึงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมาดูการเตรียมเครื่องขันหมาก การจัดขบวนขันหมากให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า ตามมาดูกันได้เลย

สิ่งที่ต้องเตรียมในขบวนขันหมาก พิธีไทย

สำหรับการเตรียมของประกอบพิธีในขบวนขันหมาก โดยทั่วไปแล้วทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีการเตรียมงานเองในส่วนของขบวนขันหมากทั้งหมด ซึ่งจะมีการแบ่งออกเป็นพานขันหมากเอก และขันหมากโท โดยขันหมากเอกจะประกอบไปด้วย

ขบวนขันหมาก พิธีไทย

1. พานหมาก: หมาก 8 ผล พลู 4 เรียง (เรียงละ 8 ใบ) ถุงเงิน 2 ถุง  ถุงทอง 2 ถุง ซึ่งแต่ละถุงจะบรรจุเมล็ดธัญญาพืช เช่น ถั่วเขียว งาดำ ข้าวเปลือก และข้าวตอก

2. พานสินสอด: เป็นพานสำหรับใส่ของหมั้นอย่างเงิน  ทอง  เพชรต่าง ๆ หรือสินสอดที่จะนำไปสู่ขอฝ่ายเจ้าสาว

3. พานแหวนหมั้น: ใช้วางแหวนหมั้นของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไว้ด้วยกัน ไว้ใช้ในพิธีหมั้น

4. พานธูปเทียนแพ: ประกอบไปด้วยธูป เทียนแพ และกระทงดอกไม้ ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่ในพิธี

5. พานผ้ารับไหว้ผู้ใหญ่: ประกอบไปด้วย ผ้านุ่ง 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืนไม่ต้องมีธูปเทียนและดอกไม้  

6. พานเชิญขันหมาก: คนของฝ่ายหญิงต้องเตรียมไว้ 1 พาน มักจะให้เด็กถือเพื่อต้อนรับขันหมากของฝ่ายโดยในพานจะใส่หมาก พลู และบุหรี่ไว้เล็กน้อย 

7. พานต้นกล้วย-ต้นอ้อย: ส่วนใหญ่จะมีการตัดกล้วยและต้นอ้อยมาวางบนพาน โดยจะเตรียมมาพานละ 1 คู่ หรือจะใช้การตัดต้นกล้วยและต้นอ้อยเล็ก ๆ มาให้เถ้าแก่ของฝ่ายชายถือแทนก็ได้

8. ร่มสีขาว: ให้เตรียมไว้ 2 คัน เอาไว้ให้เถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายเป็นคนถือ

9. ช่อดอกไม้: เป็นการจัดช่อดอกไม้เล็ก ๆ สำหรับเจ้าบ่าวถือและใช้มอบให้เจ้าสาวตอนประกอบพิธี 

ขันหมากแต่งงาน

ลำดับการจัดขบวนขันหมาก

ต่อมาส่วนที่สำคัญไม่ต่างไปจากการจัดเครื่องประกอบพิธีก็คือ การจัดขบวนขันหมาก ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า พานใส่ของต่าง ๆ จะต้องมีการจัดวางคนถือและตำแหน่งการยืนในขบวนให้ถูกต้อง โดยจะมีรูปแบบการลำดับดังต่อไปนี้

ตำแหน่งที่ 1: เถ้าแก่ 

แน่นอนว่าตำแหน่งแรกหรือคนนำขบวนจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เถ้าแก่ ซึ่งเป็นเหมือนคนที่จะมาช่วยเบิกทาง นำทางให้เจ้าบ่าวผ่านขั้นตอนไปต่าง ๆ เพื่อเข้าไปหาเจ้าสาว ส่วนใหญ่เจ้าบ่าวจะเลือกเป็นคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คนที่ตนเองเคารพ หรือถ้าจะมาแบบฮา ๆ หน่อยก็ต้องเป็นคนที่มีฝีมือในการต่อรอง เป็นผู้ถือซองสำหรับค่าผ่านประตู ให้เจ้าบ่าวเข้าไปหาเจ้าสาวได้อย่างสะดวก

ตำแหน่งที่ 2:  เจ้าบ่าว (มีพ่อแม่ฝ่ายชายยืนขนาบข้าง)

สำหรับจุดนี้จะมีทั้งเจ้าบ่าวยืนตรงกลางแล้วถือพานธูปเทียนแพ โดยจะมีพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายยืนขนายข้างและร่วมเดินนำขบวนมา

ตำแหน่งที่ 3:  พานกล้วย พานอ้อย

ต่อมาจะเป็นเพื่อนสนิทเจ้าบ่าว หรือจะเลือกเป็นญาติทางฝั่งตัวเองก็ได้ ตำแหน่งนี้จะได้ถือพานต้นกล้วยและพานต้นอ้อย เดินตามหลังเจ้าบ่าวมา 

ตำแหน่งที่ 4: ขันหมากเอก ขันหมากโท

ตำแหน่งนี้ฝ่ายชายจะใช้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพหรือผู้ที่เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตคู่ก็ได้ เพราะต้องเลือกมา 2 คนสำหรับถือพานขันหมากเอก และขันหมากโท ซึ่งเป็นพานสำคัญในการประกอบพิธีต่อไป

ตำแหน่งที่ 5: พานแหวนหมั้น

ต่อมาที่จะขาดไม่ได้ก็คือคนที่ทำหน้าที่ถือพานแหวนหมั้น ดดยตำแหน่งการยืนจะอยู่ขนาบข้างกับพานขันหมากเอกหรือจะเดินตามก็ได้แล้วแต่รูปขบวน จะให้เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวหรือญาติสนิทถือให้ก็ได้

ขบวนขันหมาก

ตำแหน่งที่ 6: พานสินสอด

ขยับลงมาเล็กน้อยจะเป็นตำแหน่งของคนถือพานสินสอด ซึ่งจะให้ทางฝั่งเจ้าบ่าวเลือกคนที่ไว้ใจอาจจะเป็นเพื่อนหรือญาติสนิท จำนวน 2 คน เพื่อให้มาถือพานนี้ ย้ำว่าต้องไว้ใจจริง ๆ ! เพราะว่าของในพานมีมูลค่า

ตำแหน่งที่ 7: พานผลไม้มงคล

มาต่อกันที่พานผลไม้มงคล ตำแหน่งนี้จะเลือกเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิงมาก็ได้ เลือกคละ ๆ มา 8-9 คน เพื่อมาถือพานผลไม้ ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ พานกล้วย พานมะพร้าว พานส้มโอ พานชมพู่ อย่างละคู่ พอให้ดูดีและเป็นไปตามธรรมเนียมสักหน่อย

ตำแหน่ง 8: พานขนมมงคล

ตำแหน่งต่อมาจะเป็นคนที่ถือพานขนมมงคล โดยจะมีการจัดวางขนมไทยทั้งหมด 9 ชนิด อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่จันทร์ ถ้วยฟู เม็ดขนุน หรือขนมมงคลอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีมากน้อย หรือเปลี่ยนชนิดขนมไปบ้างขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละคู่เลย สามารถเลือกคนมาถือได้ตามต้องการ

ตำแหน่งที่ 9: ขบวนรำ

ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคู่ด้วย ถ้าอยากให้มีโมเมนต์แบบสนุกสนาน เฮฮา ก็อาจจะมีขบวนรำเล็กน้อย เพื่อความบันเทิง หรือจะไม่ใส่มาแล้วเปลี่ยนเป็นเพิ่มพานอื่น ๆ เข้ามาให้ครบพิธีก็ได

ต้องบอกก่อนว่าการจัดลำดับขบวนขันหมากแบบนี้เป็นรูปแบบของขันหมากแบบ 9 คู่ แต่ที่เรามักจะเห็นดารา คนดังแต่งกันแล้วมีรูปขบวนยาว ๆ นั้นจะเรียกวว่าขันหมาก 19 คู่ ซึ่งจะมีพานเครื่องประกอบพิธีเพิ่มขึ้นมาและมีการจัดขบวนที่ต่างออกไปเล็กน้อย ดังต่อไปนี้

ตำแหน่งที่ 1: เจ้าบ่าว ถือพานดอกไม้ ธูปเทียนแพยืนนำขบวนหน้าสุด (อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปขบวนเหมือนไปถึงบ้านเจ้าสาว)

ตำแหน่งที่ 2: เถ้าแก่ ผู้ใหญ่ที่จะมาช่วยเบิกทางให้เจ้าบ่าว มาพร้อมเด็กที่ถือพานเชิญขันหมากจากฝ่ายเจ้าสาว

ตำแหน่งที่ 3: พ่อแม่เจ้าบ่าว เป็นฝ่ายถือซองแดง หรือค่าเบิกทางให้เจ้าบ่าว

ตำแหน่งที่ 4: คนถือต้นกล้วยกับต้นอ้อย 1 คู่

ตำแหน่งที่ 5: ขันหมากเอก มักจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพเป็นคนถือ 

ตำแหน่งที่ 6: ขันหมากพลู 1 คู่

ตำแหน่งที่ 7:  พานขันหมากเงินสินสอด พานทองหมั้น 1 คู่ มักจะให้ญาติสนิทมิตรสหายที่ไว้ใจมาถือ

ตำแหน่งที่ 8: พานแหวนหมั้น 

ตำแหน่งที่ 9: พานผ้ารับไหว้ผู้ใหญ่ เป็นพานใส่ของสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ในพิธี 1 คู่ 

ตำแหน่งที่ 10: พานขันหมากโท ให้ญาติหรือเพื่อนฝ่ายเจ้าบ่าวมาถือ

ตำแหน่งที่ 11: พานไก่ต้ม หมูนอนตอง ให้เตรียมไว้อย่างละ 1 พาน ให้ใครก็ได้มาถือ

ตำแหน่งที่ 12: พานวุ้นเส้น เตรียมไว้ 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 13: พานมะพร้าว เตรียมไว้ 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 14: พานกล้วยหอม ส้ม ชมพู่  ใครถือก็ได้ เตรียมไว้ 1 คู่ ให้เลือกผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  

ตำแหน่งที่ 15: พานส้มโอ เตรียมไว้ 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 16: พานขนมมงคล 9 อย่าง 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 17: พานขนมเปี๊ยะ เตรียมไว้ 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 18: พานขนมจันอับ เตรียมไว้ 1 คู่ ใครถือก็ได้

ตำแหน่งที่ 19: ปิดท้ายด้วยขบวนรำ

ลำดับขบวนขันหมาก

ข้อควรรู้ในการจัดเตรียมขบวนขันหมาก

1. ญาติผู้ใหญ่ที่เดินนำขบวนขันหมากควรเป็นบุคคลที่น่าเคารพและประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว เพื่อให้ชีวิตของคู่สมรสประสบความสำเร็จเช่นกัน 

2.มีความเชื่อที่ว่าพ่อ-แม่ของฝ่ายเจ้าสาว ไม่ควรเผชิญหน้ากับขบวนขันหมาก เพราะเชื่อว่าในอนาคตครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวอาจกระทบกระทั่งกับครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าว ถือเป็นเคล็ดให้ชีวิตคู่ยืนยาว

3.เลือกคนที่เรารู้จักดีมาถือสินสอดให้ 

4.เลือกคนให้เหมาะกับพาน พานหนัก พานเบา เลือกคนให้ดี

5.รูปขบวนอาจจะเปลี่ยน เมื่อแห่มาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวที่เคยเดินนำขบวนไปก็ย้ายไปอยู่ด้านหลังเถ้าแก่ เพื่อให้เถ้าแก่ช่วยเบิกทางให้ ส่วนคนถือต้นกล้วยและต้นอ้อยก็ย้ายไปอยู่ท้าย ๆ ก่อนขบวนรำ เพื่อให้ไม่บดบังรูปขบวน

6.ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวที่จะมาร่วมพิธีและไม่ได้ถือพานก็สามารถมายืนข้างขบวนขันหมากได้

7.ขนมที่นำมาใช้ในพิธีแห่ขันหมาก เมื่อเสร็จพิธีสามารถแจกจ่ายให้คนในงานรับประทานได้  มีความเชื่อว่าใครที่โสดหรืออยากแต่งงานมารับประทานแล้วจะเป็นมงคลมาก

ปัจจุบันถ้าหากบ่าวสาวคู่ไหนไม่มีเวลาจัดเตรียมขบวนขันหมากเอง ก็มี Wedding planner หรือออแกไนซ์หลายบริษัทรับจัดหาของประกอบพิธีให้ครบ รวมถึงมีบริการเช่าสินสอด แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจแน่นอนว่าการจัดขบวนขันหมากแม้ว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการแต่งงานแบบไทย แต่รูปแบบและเครื่องประกอบพิธีที่เลือกก็สัมพันกับความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละด้วยเช่นกัน

เพราะจริง ๆ ไม่ว่าจะเลือกใช้เป็นขันหมากแบบ 9 คู่ หรือขันหมาก 19 คู่ก็ล้วนแล้วแต่ยังคงความสวยงามในพิธีไว้ อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้างเพื่อความง่ายดายในการทำพิธี แต่ยังเป็นประเพณีที่เรียกรอยยิ้มได้ดีเหมือนเดิมแน่นอน

ขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/BirdeyeviewWeddingStudio/