Birdeyeview รีวิวแต่งงาน00.jpg original

เจาะเบื้องลึก “สินสอด” ต้องทุ่มขนาดไหนถามใจเธอดู


ข่าวดาราแต่งงาน ผู้ชายใจป้ำทุ่มสินสอดหลักร้อยล้าน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงานของเชน ธนา หรือดีเจเพชรจ้า ได้สร้างความฮือฮาให้แก่บรรดาแฟนคลับทั้งหลายต้องทึ่งไปตามๆ กัน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นแฟชั่นที่ต้องทำให้บรรดาว่าที่คู่บ่าวสาว โดยเฉพาะผู้ชายถึงกับต้องกุมขมับเลยทีเดียวว่า ถ้าถึงคราวตัวเองจะแต่งงานบ้าง ต้องทุ่มสินสอดเท่าไหร่ ฝ่ายหญิงจึงจะพอใจ

เชื่อว่าลึกๆ แล้วผู้ชายเกือบทุกคนคงคิดแบบเดียวกับผม สินสอดจำนวนขนาดนี้ อาจเป็นจำนวนมากพอที่จะสามารถตั้งตัว หรือเปิดกิจการของตัวเองได้สบาย เลยมองว่าสินสอดเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและดูไม่สมเหตุสมผล เพราะให้สินสอดแล้วจะช่วยให้ความรักของคนสองคนยืนยาวได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรที่จะช่วยการันตี ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสิ่งใดมายืนยันเป็นหลักฐานได้เลย

แต่ผู้ชายบางคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ชายสมควรทำอยู่แล้วเพื่อพิสูจน์ถึงความรักที่จะมั่นคงไปตราบชั่วนิรันดร์ และการแต่งงานอาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต จึงต้องทุ่มสุดตัวเพื่อไม่ให้รู้สึกกลับมาเสียดายทีหลัง หรือไม่ก็เพื่อป้องกันคำสบประมาทของบรรดาญาติๆ หรือแขกที่มางานแต่งงาน

นิวเคลียร์เพชรจ้า-แต่งงาน-9

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

ทำไมงานแต่งงานต้องมีสินสอด ?

สังคมไทยสมัยก่อน ผู้หญิงไม่ได้ทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว ส่วนผู้ชายจะเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องไปประกอบอาชีพนอกบ้าน ถ้าไม่ได้ทำไร่ไถนา ก็ไปค้าขายหรือไม่ก็รับราชการ การที่ผู้ชายจะไปสู่ขอผู้หญิงสักคนหนึ่งมาแต่งงานเป็นภรรยาด้วย จะต้องมีเงินหรือสินทรัพย์จำนวนหนึ่งเป็นสินสอดให้แก่พ่อแม่ของผู้หญิงด้วย เพื่อการันตีว่าหลังแต่งงานแล้วผู้ชายจะเลี้ยงดูฝ่ายหญิงได้ เพราะตามธรรมเนียมไทยโบราณ ผู้ชายจะต้องเป็นฝ่ายแต่งเข้าบ้านผู้หญิงเพื่อเป็นเสาหลักทดแทนพ่อแม่ผู้หญิงที่แก่ตัวลง ดังนั้น ยิ่งจำนวนสินสอดมากเท่าไหร่ ฝ่ายหญิงก็จะยิ่งไว้วางใจผู้ชายมากเท่านั้น เพราะมองว่าเขยคนนี้ขยันและที่บ้านฐานะดี มีความมั่นคง ไม่ได้มาเพื่อหวังเกาะผู้หญิงกิน

ดาราแต่งงาน-เชน ธนา-0

สินสอดมากน้อยคำนวณจากอะไร

แล้วคิดว่า “สมเหตุสมผล” หรือไม่ ?

ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะคิดว่า “ควรเรียกสินสอดเท่าไหร่” ส่วนผู้ชาย “ควรให้สินสอดเท่าไหร่” ทางครอบครัวฝ่ายหญิงส่วนใหญ่จะไม่บอกจำนวนที่แน่นอน โดยให้ฝ่ายชายพิจารณาตามความเหมาะสม ผมมองว่าตรงนี้แหละที่เป็น “จุดอ่อน” ของการนำไปสู่ประเด็นดราม่า เพราะไม่มีเกณฑ์สินสอดที่ตายตัว เป็นบททดสอบทางใจที่ฝ่ายหญิงต้องการวัดใจฝ่ายชายว่าจะพ่อบุญทุ่มขนาดไหน ฝ่ายชายก็กังวลว่า สินสอดจำนวนเท่านี้จะมากพอสำหรับฝ่ายหญิงไหม คิดแล้วคิดอีกจนสุดท้ายก็หาสินสอดไปให้ในจำนวนที่คิดว่าเหมาะสมจนได้ แต่ก็ยังมีหลายคู่ที่เจอประเด็นดราม่าในลักษณะตั้งแง่ จิกกัด ประชดประชัน หรือนินทาลับหลังบ้าง ส่วนใหญ่จะหาว่าสินสอดน้อยไป ไม่สมฐานะเลย

เจอแบบนี้เข้า ผมเชื่อว่าผู้ชายหลายคนคงแอบนอยด์ในใจไม่มากก็น้อยล่ะ อุตส่าห์ปรึกษาญาติผู้ใหญ่ คำนวณมาอย่างดีแล้วควรจะให้ฝ่ายหญิงเท่าไหร่ ต้องยอมประหยัดเงิน ยอมทำโอ ยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำมาหลายปีเพื่อพิชิตใจผู้หญิงที่รักให้ได้

ผมเคยถามเพื่อนที่แต่งงานแล้วว่า จะเรียกค่าสินสอดต้องดูจากอะไรบ้าง เพื่อนบอกว่าดูจากตัวเองนี่แหละ เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคลนี่แหละเป็นหลักเกณฑ์ หลักๆ จะประกอบด้วย

  • การศึกษา ยิ่งวุฒิสูง ค่าตัวก็ต้องสูงตามด้วย ยิ่งเรียนจบต่างประเทศยิ่งอัพค่าสินสอดได้เท่าตัวเลย
  • อาชีพกับรายได้ เพื่อนใช้สูตร เงินเดือนคูณ 10 ก็จะได้จำนวนสินสอดเบื้องต้น
  • ฐานะทางบ้าน ที่บ้านเพื่อนคนนี้ทำกิจการส่วนตัว ส่วนฝั่งผู้ชายก็ฐานะดี มีกิจการส่วนตัวเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีคอนเนคชันพอสมควร เพื่อนก็ต้องคิดเผื่อนิดนึงว่า ถ้าเรียกสินสอดจำนวนเท่านี้จะสมเกียรติทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงหรือไม่ ยิ่งที่บ้านเป็นคนมีระดับในสังคมแล้ว จำนวนสินสอดยิ่งสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

เว็บไซต์ http://setthasat.com/2011/09/20/wedding/ ได้นำเสนอประเด็นนี้ ผ่านสูตรคำนวณมูลค่าสินสอดตามรูปแบบสมการ ดังนี้

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 ถ้าเรียนจบไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 ถ้าแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 ถ้ามีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ผมลองคำนวณเล่นๆ ในมุมมองของผู้ชาย ถ้าต้องจ่ายสินสอดจริง จำนวนสินสอดที่ผมพอจะรับได้อย่างมากก็จะอยู่ที่

(2.2205 x รายได้เดือนละ 20,000) + (8,986.92 x กว่าจะได้แต่งงานอาจต้องรอถึงอายุ 30 ปี) + (174,818.6 ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ผมเป็นคนต่างจังหวัด) – (454,350.5 ถ้าเรียนจบไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 ถ้าแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ผมเป็นลูกคนโต) – (134,160.8 ถ้ามีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง)

= 406,921 บาท (ไม่รวมส่วนที่เป็นข้อความสีแดง) เงินจำนวนนี้เฉพาะค่าสินสอด ยังไม่รวมค่าจัดงานแต่งงานอื่นๆ อีก

ผู้ชายหลายคนต้องคิดแน่นอนว่า มันใช่เหรอ รู้สึกว่าไม่คุ้ม คือเงินจำนวนนี้ถือว่ามากพอที่จะต่อยอดอนาคต เปิดร้านขายของ ทำธุรกิจส่วนตัวขนาดย่อมได้หลายปีเลย คำตอบของความสมเหตุสมผลจึงควรจะทำให้กระจ่างชัด ตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาสู่ขอและตกลงค่าสินสอด หากพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ได้เรียกค่าสินสอดเป็นจำนวนตัวเลข ทางฝ่ายชายก็ควรจะเสนอไปเลยว่าจะให้ค่าสินสอดเท่าไหร่ ซึ่งก่อนวันสู่ขอควรจะคำนวณค่าสินสอดให้เรียบร้อย คำนวณเผื่อต่อรองได้ยิ่งดี ถ้าทางฝ่ายชายมีปัญหาการเงินอยู่ก็ควรบอกไปตรงๆ และปรึกษาหาทางออกร่วมกันกับทั้งสองฝ่าย เช่น อาจให้เวลาหาสินสอดนานพอควรหน่อย หรือลดจำนวนค่าสินสอดลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถการเจรจาต่อรองของฝ่ายชายแล้วว่า จะตกลงยังไงให้ค่าสินสอด รวมทั้งค่าจัดงาน ออกมาแล้วเป็นจำนวนที่สมเหตุสมผล และสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ดาราแต่งงาน-เชน ธนา-11

ผู้ชายให้สินสอดมาก = รักฝ่ายหญิงมาก

จริงหรือไม่ ?

ข้อนี้เหมือนเป็นบททดสอบด่านแรกของชีวิตคู่แบบเป็นทางการและถูกต้องตามประเพณี เพราะชีวิตคู่ไม่ได้อยู่ได้ด้วยความรัก ความเข้าใจอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการสร้างฐานะ ความมั่นคง และวางแผนอนาคตร่วมกันอีกด้วย แต่ผมมองว่า ไม่มีตรรกะใดเลยที่จะเชื่อมโยงเรื่องเงินกับชีวิตหลังแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่นได้ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เชื่อว่ามีคู่รักหลายคู่ที่ทั้งทุ่มสินสอดและจัดงานแต่งงานได้อลังการงานสร้างมาก แต่พออยู่ด้วยกันได้ไม่นานก็เลิกรากันไป ผู้ชายที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาก่อนย่อมรู้ดีว่าเจ็บปวดและเสียดายแค่ไหน ซึ่งบางคนอาจไม่ได้เสียดายเพราะความรักที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมา แต่เสียดายเงินที่ต้องหมดไปกับงานๆ เดียวต่างหาก

ผมมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องความเกรงใจต่อคนรอบตัวมากกว่าการพิสูจน์ความรัก บางคนยอมทุ่มสุดตัวเพราะกลัวเป็นประเด็นนินทาหลังงาน ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่ได้แคร์ แต่คนที่แคร์เรื่องนี้กลับเป็นญาติผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะจำนวนสินสอดยังหมายถึงหน้าตาของครอบครัวทั้งสองฝ่ายด้วย

โอ๋ฟิวส์ ดาราแต่งงาน8

เมื่อปัจจุบันผู้หญิงก็ทำงานแล้ว ฝ่ายหญิงจะช่วยหาสินสอดได้หรือไม่

หรือผู้ชายยังต้องหาฝ่ายเดียว ?

ไม่รู้ว่าฝ่ายหญิงจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือไม่ แต่สำหรับมุมมองผู้ชายแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนสินสอดคือสิ่งที่พิสูจน์ความรักและความมั่นคงของฝ่ายชายเป็นหลัก แต่พอสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป ผู้หญิงมีสิทธิ์เล่าเรียนและทำงานเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว ผมจึงมองเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก ถ้าฝ่ายหญิงยินดีที่จะช่วยหาสินสอดเพราะเห็นว่าควรเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องลงแรงร่วมกัน เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เราพร้อมที่จะเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรต้องช่วยเหลือกัน ก็ไม่ผิดครับ เพราะด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยเท่าที่จำเป็น และไม่ได้โยนความหวังในการสร้างฐานะไปที่คนๆ เดียว คือทุกคนต้องช่วยกัน ทำให้คู่รักหลายคู่นิยมจัดงานแต่งงานแต่พอตัวมากขึ้น และฝ่ายหญิงเองก็ไม่อยากให้คนภายนอกมองว่าจ้องแต่จะเอาเปรียบฝ่ายชาย จึงต้องช่วยหาสินสอดด้วย ประมาณว่าคุณให้ใจฉันมา ฉันก็ให้ใจคุณด้วยเช่นกัน แต่ถ้าสินสอดยังคงเป็นเรื่องของฝ่ายชายฝั่งเดียวก็ไม่ผิด เพราะเขาอาจยังยึดถือตามธรรมเนียมโบราณอยู่ แต่หลังจากที่เสร็จพิธีงานแต่งงานแล้ว สินสอดล่ะจะไปอยู่ที่ไหน

 

ถ้าผู้หญิงอายุมากขึ้น ช่วยลดค่าสินสอดลงได้หรือไม่ ?

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าตั้งคำถามไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะถ้ามองค่าของผู้หญิงในทางเศรษฐศาสตร์ ยิ่งสาวค่าสินสอดยิ่งสูง แต่พอเวลาผ่านไปจนเริ่มค้นพบความจริงว่า สังขารของคนย่อมไม่เที่ยงแท้ แม้แต่มูลค่ายังต้องแปรผันตามกาลเวลา ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นแต่ยังมีความหวังว่าจะได้ลงคานอาจต้องลดค่าสินสอดลงหน่อย เผื่อจะได้ขายออกกับเขาบ้าง

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง อาจเกิดอีกหนึ่งคำถามเพิ่มขึ้นมาคือ ยิ่งอายุมาก ย่อมมีโอกาสที่จะมีรายได้สูงขึ้น แต่ทำไมถึงต้องขอให้ฝ่ายหญิงลดค่าสินสอดลง ก็มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ประเด็นคือ

  • จากการสำรวจพบว่า ผู้หญิงที่ได้แต่งงานเร็ว (อายุยังไม่ถึงเลข 3) จะรู้สึกตื่นเต้น และอินกับงานแต่งงานมากกว่าผู้หญิงที่ได้แต่งงานเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้หญิงกลุ่มหลังนี้ ส่วนใหญ่จะจัดงานแต่งงานเพื่อให้พอเป็นพิธีและเป็นเกียรติแก่ครอบครัวทั้งสองฝ่ายซะมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่าช่วงอายุเลข 3 เป็นช่วงที่เริ่มปลงกับหลายอย่างแล้ว จึงอาจทำให้ไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับความสมหวังที่เข้ามาช้ากว่าที่สมควร
  • รายได้ที่สูงขึ้นย่อมมาพร้อมกับภาระ หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ถามว่าถ้าแบ่งรายได้จำนวนนี้ไว้สำหรับสร้างครอบครัว (โดยเฉพาะช่วงมีลูก ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก) จะดูคุ้มค่ากว่าการทุ่มให้กับสินสอดจำนวนมากที่ไม่รู้อนาคตว่า พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะให้สินสอดไปตั้งตัวหรือไม่

สรุปคือ ผู้ชายอาจต้องการรักษาก้อนเงินส่วนใหญ่ไว้ก่อนเพื่อรองรับความมั่นคงทางการเงินของตน จึงต้องพยายามหาทางเจียดงบประมาณสำหรับค่าสินสอดออกไปให้น้อยที่สุด หากเป็นกรณีที่ได้แต่งงานเมื่ออายุมากแล้ว

“สินสอด” ควรเป็นของใคร

“ผู้หญิง” หรือ “พ่อแม่ฝ่ายหญิง” ?

ถ้าพูดกันในแง่กฎหมาย สินสอด ต้องเป็นสิ่งที่ฝ่ายชายให้แก่ พ่อแม่ หรือ ผู้ปกครองฝ่ายหญิง เท่านั้น มิได้เป็นของตัวผู้หญิงอย่างของหมั้น แต่ในทางปฏิบัติพ่อแม่ของฝ่ายหญิงส่วนใหญ่จะคืนสินสอดแก่คู่บ่าวสาวหลังเสร็จงานแต่งงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คู่บ่าวสาวไปเริ่มต้นชีวิตคู่ แต่สำหรับผมเฉยๆ กับประเด็นนี้นะ เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะให้สินสอดคืนฝ่ายชายหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ลึกๆ แล้วผมรู้สึกเสียดายเหมือนกันนะ เหมือนเงินที่ต้องใช้เวลาหาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเองบินวับไปกับตา ทั้งๆ ที่มันมีจำนวนมากพอที่จะมาสร้างฐานะให้ตัวเองได้ แล้วยิ่งถ้ามีเหตุต้องเลิกกันนี่คือแบบ… แทบไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกเลยครับ เว้นแต่ฝ่ายหญิงเป็นต้นเหตุและไม่ได้สมรสอย่างเป็นทางการ ฝ่ายชายก็สามารถเรียกสินสอดคืนได้

 

โอ๋ฟิวส์ ดาราแต่งงาน5

“สินสอด” เปรียบเสมือนเงินประกันความรัก ?

ผมเห็นต่างจากประเด็นนี้เล็กน้อยตรงที่ สินสอดไม่น่าจะเป็นเงินประกันความรัก แต่น่าจะเป็นเงินสำหรับซื้อความรักและความไว้วางใจจากฝ่ายหญิงมากกว่า ซื้อแล้วไม่รับคืน เพราะถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเงินประกันแล้ว ก็ต้องมีระยะเวลาบอกด้วยสิว่า ต้องรักกันกี่ปีถึงจะได้เงินคืน แต่ในกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ แล้วจะเรียกสินสอดว่าเป็นเงินประกันความรักได้อย่างไร แต่ด้วยจำนวนค่าสินสอดที่ฝ่ายชายต้องเสียไปให้แก่ฝ่ายหญิงในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่าหลักแสน ฝ่ายชายอาจมองว่า เงินจำนวนนี้เปรียบเสมือนตัวประกันที่เตือนใจตนเองตลอดว่า ถ้ามีเหตุทะเลาะกันถึงขั้นต้องหย่าร้าง ต้นเหตุห้ามเกิดจากฝ่ายชายเป็นอันขาด เพราะจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ (ในทางปฏิบัติก็คือเรียกเงินส่วนนี้จากสินสอดนี่แหละ)

 

“สินสอด” เป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวทั้งสองฝ่ายจริงหรือเปล่า ? 

ถ้ามองในมุมของคนรุ่นใหม่ คนที่จะเป็นหน้าเป็นตาได้จริงๆ มีเพียงเจ้าบ่าวคนเดียวเท่านั้น เพราะตามธรรมเนียมแล้ว เงินจำนวนนี้มักจะมาจากน้ำพักน้ำแรงของเจ้าบ่าวล้วนๆ แต่ถ้าเป็นในทางปฏิบัติที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ทำการใหญ่ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว อาจมีญาติฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงช่วยสนับสนุนบ้างตามความเหมาะสม แต่ไม่ว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ที่ออกมาให้เห็นในวันพิธีแต่งงาน มุมมองของแขกผู้ร่วมงานที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสินสอดเหล่านี้อาจมองในมุมต่างกันไป บ้างอาจมองว่า ครอบครัวฝ่ายชายขยัน ฝ่ายหญิงเองก็เลือกคนได้ถูกแล้ว ชีวิตคู่มั่นคง ไม่อดตายชัวร์

แต่สำหรับความเห็นส่วนตัวแล้ว มันก็แค่พิธีๆ หนึ่งที่สำหรับรักษาหน้าตาของทั้งสองฝ่ายเพื่อเอาใจบรรดาญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสเท่านั้น เพราะกลุ่มคนรุ่นนี้กว่า 80-90% เชื่อว่ายังคงยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอยู่ ก็ลองไม่มีสินสอดมาโชว์ดูสิ รับรองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะโดนนินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังแน่นอน

 

ดาราแต่งงาน-เชน ธนา-6

สรุปแล้วควรมี “สินสอด” ต่อไปหรือไม่ ?

ประเด็นนี้ถือว่าพูดกันยาก ด้วยปัจจัยต่างๆ ภายในสังคมทุนนิยมที่ทำให้ “เงิน” กลายเป็นตัววัดค่าของสรรพสิ่งทั้งวัตถุและจิตใจแล้ว สังคมล้วนต้องการสิ่งนี้มาไว้ครอบครองเพื่อนำไปต่อยอดสิ่งที่ตนต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับผมแล้ว การแต่งงานจะยังมีสินสอดต่อไปก็ไม่ผิด เพียงแต่พิจารณาตามยุคสมัยแล้ว สินสอดควรจะมีการยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหนบ้าง อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทองเสมอไป เป็นสินทรัพย์อื่นๆ เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน รถยนต์ ฯลฯ ได้หรือไม่ บางทีฝ่ายชายอาจไม่ได้มีเงินสดมากขนาดนั้น แต่มีสินทรัพย์อื่นๆ ที่พร้อมจะมอบให้ฝ่ายหญิงนำไปใช้ประโยชน์ หรือลงทุนต่อยอดให้งอกงามแทน เพราะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของลูกหลานได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่า และเพื่อเป็นการลดความแคลงใจได้ระดับหนึ่งว่า เงินสินสอดให้แล้วไปไหน

แต่ถ้าการแต่งงานจะไม่มี “สินสอด” เราควรจะใช้อะไรมาพิสูจน์ความรักแทนดีครับ ก็ตอบยากเช่นกัน ถ้าหากทุกสิ่งบนโลกยังคงถูกตีตราทางมูลค่าด้วย “เงิน”

 ข่าวดาราแต่งงาน-น็อต วรฤทธิ์-1

“งานนี้สินสอดไม่เยอะ เพราะไม่อยากเอาสินสอดมาวัดค่าความรัก”

น็อต วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับข่าวแต่งงานที่จะจัดในวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 นี้

แหล่งที่มาของข้อมูล

  • https://pantip.com/topic/36118725
  • https://pantip.com/topic/30845934
  • http://setthasat.com/2011/09/20/wedding
  • http://waymagazine.org/rakteejaima
  • http://www.thairath.co.th/content/565362